RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

หอยทากชราเล่าเรื่อง : เรื่องของสังข์ที่คนไม่รู้ ตอนที่ 1

คุณกำลังอ่าน
หอยทากชราเล่าเรื่อง : เรื่องของสังข์ที่คนไม่รู้ ตอนที่ 1

เผยแพร่ : 4/7/2565

จำนวนผู้เข้าชม : 634

ตัวแทนแห่งองค์เทวะและสัญลักษณ์แห่งมงคล

สังข์เป็นหอยอีกชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เป็นมงคลของไทย   ที่เห็นบ่อย ๆ ได้แก่ การรดน้ำสังข์ในงานแต่งงาน หรือในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ที่มีการอัญเชิญพระสังข์  พระมหาสังข์องค์ต่าง ๆ เข้าประกอบพิธี เช่น พิธีโสกัณฑ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาสังข์เองจัดเป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภค ซึ่งหมายถึง เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์  อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมงคล 8 ประการ อันประกอบด้วย

  1. คทา หรือตะบอง: เกิดขึ้นโดยพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า ทรงพบเถาวัลย์บนยอดเขาพระสุเมรุ จึงถอนขึ้นมาแลบิดเถาวัลย์นั้นให้เป็นเกลียวรูปตระบองแล้วนำขึ้นถวายท้าวมหาพรหม ต่อมาท้าวมหาพรหมได้นำ ขึ้นถวายองค์ศิวะเจ้า พระผู้เป็นเจ้าทรงให้เป็นเทพศาตราวุธคู่พระหัตถ์ ตะบองนี้มีศักดานุภาพเป็นที่หวั่นเกรงของหมู่ยักษ์แลภูตผีปีศาจทั้งปวง นับเป็นมงคลประการแรก
  2. สังข์ทักษิณาวรรต : เล่าความไว้ในเนื้อเรื่องขอรับ 
  3. จักร : เป็นเทพศาตราวุธขององค์พระอิศวรและพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า ทำเป็นรูปแฉกเวียนขวาเป็นทักษิณาวรรต แต่ละแฉกทำเป็นสัญลักษณ์แทนเทวดานพเคราะห์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ จึงถือว่าจักร เป็นมงคลประการที่สาม
  4. ธงสามชาย หรือธงชัย : เป็นอิศวรราชูปโภค เป็นเครื่องหมายแทนพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม หรือตรีมูรติในศาสนาพราหมณ์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ให้เป็นธงนำกองทัพเทพยดาเมื่อออกรบกับอสูรจึงถือว่าเป็นมงคลประการที่สี่
  5. ขอสับช้าง : ตามตำนานกล่าวว่า มีช้างชื่อเอกทันต เกิดในป่าหิมพานต์ เป็นช้างที่ดุร้ายและมีฤทธิ์มาก เที่ยวกระทำร้ายเทวดาและมนุษย์ ไม่มีผู้ใดจะปราบปรามได้ พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จไปปราบ โดยทิ้งเชือกบาศคล้องช้างเอกทันต์ได้ และนำพระแสงตรีปักลงบนพื้นดิน เนรมิตให้เป็นต้นมะตูมใหญ่ ผูกช้างเอกทันต์ไว้ แล้วหักกิ่งนั้นทำเป็นขอสับใช้บังคับช้างเอกทันต์ ภายหลังได้มอบขอสับช้างนี้ให้เป็นเทพอาวุธของพระพิฆเนศวร จึงถือว่าขอสับช้างเป็นมงคลประการที่ห้า
  6. อุณหิศ หรือหญ้าแพรก : ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดพญาอนันตนาคราช ซึ่งขดตัวเป็นที่บรรทมของพระนารายณ์ในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) ช้านานเข้าหนวดของพญานาคงอกยาวออกมา และหลุดลอยไปติดตามริมฝั่งของมหาสมุทรกลายเป็นหญ้าแพรกต่อมาได้มีผู้นำหญ้าแพรกมาดัดเป็นสายสิญจน์ และทำเป็นมงคลครอบหน้าหรือ    อุณหิศ  จึงถือว่าอุณหิศเป็นมงคลประการที่หก
  7. โคอศุภราช : เป็นเทพพาหนะแห่งองค์พระศิวะเจ้าผู้ทรงจันทเศขร พราหมณ์จึงเคารพนับถือมาก ถือว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่ง เมื่อจะทำการมงคลใด ๆ ได้นำเอามูลโคมาเจิมที่หน้า เพื่อให้เกิดศิริมงคลถือว่าโคอศุภราชเป็นมงคลประการที่เจ็ด
  8. หม้อน้ำมนต์ : ถือว่ามีลักษณะแห่งพระถันยุคลขององค์พระอุมาเทวี พระมเหสีของพระอิศวรผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นเทพมารดรของโลก จึงจำลองรูปมาทำเป็นหม้อน้ำมนต์ ถือเป็นมงคลประการที่แปด
แหล่งที่มารูปภาพ
ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก : https://www.prachachat.net/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A9%E0%B8%81/news-322869

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์