RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ตัวอะไรบนเปลือกหอย? เปิดโลก “เพรียงหิน” สิ่งมีชีวิตคล้ายหิน แต่ไม่ใช่หิน!

คุณกำลังอ่าน
ตัวอะไรบนเปลือกหอย? เปิดโลก “เพรียงหิน” สิ่งมีชีวิตคล้ายหิน แต่ไม่ใช่หิน!

เผยแพร่ : 27/9/2564

จำนวนผู้เข้าชม : 9,840

ไหนขอมือคนชอบเที่ยวทะเลหน่อย~
ถ้าเพื่อนๆ เป็นอีกหนึ่งคนที่ชื่นชอบการฟังเสียงคลื่นและเดินเล่นบนหาดทรายเป็นชีวิตจิตใจ น่าจะเคยสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างบนเปลือกหอย หรือตัวปูที่มักจะมีหินขรุขระสีทึมๆ เกาะแน่นอยู่บนตัวมันด้วยเสมอ

แต่ใครจะรู้ว่า “ก้อนสีทึมๆ ” พวกนั้นไม่ใช่หินอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันคือ “เพรียงหิน” สิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไทรแอสซิก เพื่อคลายข้อสงสัยที่ทุกคนอยากรู้ วันนี้เราจะทำความรู้จักกับเพรียงหินแบบเจาะลึกกันไปเลย! ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปอ่านกันเลย~

มันคือ “หิน” จริงๆ น่ะเหรอ? 

เพราะรูปร่างที่เหมือนกับหินยิ่งกว่าแฝดไข่ใบเดียวกัน ทำให้เพรียงชนิดนี้ ถูกสถาปนาเป็น “เพรียงหิน” ขึ้นโดยปริยาย ซึ่งเจ้าเพรียงนั้น ถ้าจะบอกว่าอยู่มาตั้งแต่สมัยไดโนเสาร์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมันเป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกยุคดึกดำบรรพ์ประเภทสัตว์ขาปล้อง (Arthropod) อยู่ในไฟลัม Arthropoda ชั้นย่อย (SubInfraclass) Cirripedia ภายใต้ Subphylum Crustacea หรือถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ มันเป็นญาติกับปูและกุ้ง!

ส่วนใหญ่ เรามักพบเพรียงหินใช้ชีวิตอยู่บริเวณน้ำตื้น หรือบริเวณที่น้ำขึ้น-น้ำลง สาเหตุก็เพราะว่ามันเป็นสัตว์ยึดเกาะอยู่กับที่ (เรียกว่า Sessile Animal จึงเป็นที่มาของการจัดอยู่ใน Order Sessilia) ทำให้ต้องอาศัยการกินอาหารผ่านการใช้ขาที่เรียกว่า “Cirrus” ที่ขยับเข้าออกจากเปลือกได้ ช่วยในการดักจับอาหารจากกระแสน้ำที่ไหลผ่าน  ทำให้มันต้องเลือกสถานที่ที่มีคลื่นน้ำ รวมถึงมีที่ให้ยึดเกาะ ซึ่งแน่นอนก็หนีไม่พ้น “หอย” ที่เกาะอยู่ตามโขดหินนั่นเอง ทำให้เรามักเจอเพรียงหินและหอยอยู่ร่วมกันในที่อยู่อาศัยเดียวกัน

แปลงร่างทุกช่วงอายุ

หลายคนน่าจะเคยชินกับการเปลี่ยนจากหนอนไปเป็นผีเสื้อ หรือการลอกคราบเพื่อเติบโตของงู ซึ่งเพรียงหินเอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของโครงสร้างร่างกายในแต่ละช่วงวัยเหมือนกัน

ช่วงที่ 1 : Embryo พัฒนาการหลังจากปฏิสนธิ ระยะสร้างร่างกาย

หลังจากไข่กับอสุจิผสมกันแล้วจะพัฒนาเข้าสู่ระยะไซโกตและมีการเจริญแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงเซลล์ของร่างกายเพรียงหินไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง

ช่วงที่ 2 : Nauplius ตัวอ่อนนักว่ายน้ำ!

เป็นช่วงที่เพรียงเพิ่งลืมตาดูโลก เป็นแพลงก์ตอนตัวจิ๋วจำพวก Microscopic Plankton ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

ช่วงที่ 3 :  Cyprid ตัวอ่อนเตรียมตัวหาที่ลงหลักปักฐาน

หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาสักพัก เจ้าเพรียงหินจะทำการมองหาพื้นผิวเพื่อลงหลักปักฐานเหมาะๆ ไม่ว่าจะสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต เมื่อได้ทำเลที่ชื่นชอบแล้วมันจะปล่อยสารสุดแกร่งออกมาเพื่อยึดเกาะกับพื้นผิวนั้นและสร้างเปลือกแข็ง หุ้มตัวไว้ ซึ่งเปลือกนี้เองทำให้มันมีลักษณะคล้ายกับหิน

พื้นผิวที่เพรียงลงเกาะ สามารถเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต แม้แต่ขยะพลาสติก ขวดแก้ว เพรียงหินบางชนิดก็เกาะได้

สมาชิกเพรียงแฟมิลี่

นอกจากเพรียงหินที่เราเห็นกันจนชินตาแล้ว ในทะเลยังเพรียงอีกหลากหลายชนิดที่คุณอาจไม่รู้

1.Acorn Barnacles หรือเพรียงหิน

เพรียงที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด ชอบเกาะติดอยู่ตามหินตามแนวชายทะเล และมักพบเกาะติดกับเปลือกหอย เปลือกปู หรือแม้แต่ลำตัวของวาฬ มีรูปร่างได้หลากหลาย บางชนิดเป็น 6 เหลี่ยม บางชนิดคล้ายภูเขาไฟ บางชนิดเป็นทรงกระบอก ความพิเศษของเพรียงหินคือพวกมันมี 2 เพศในตัวเดียวกัน สร้างได้ทั้งไข่และอสุจิ

2.Goose barnacle หรือ เพรียงคอห่าน

เป็นเพรียงที่มีอวัยวะพิเศษยื่นยาวออกมายึดติดกับพื้นผิวเหมือนคอห่าน เรียกว่า ก้าน (stalk หรือ peduncle จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก Order Pedunculata) โดยเพรียงชนิดนี้สามารถยึดเกาะกับสิ่งมีชีวิต หรือวัสดุที่ลอยน้ำ และเจริญเติบโตได้ ไม่ว่าจะเป็นสาหร่าย เศษไม้ หรือเชือกในทะเล ความพิเศษคือส่วนมากแล้วมันจะมี 2 เพศในตัวเดียวกันเช่นเดียวกับเพรียงหิน เพรียงชนิดนี้มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษอีกหลายชื่อ ได้แก่ stalked barnacle หรือ gooseneck barnacles

3.Buoy-goose-barnacles หรือ เพรียงทุ่น

เป็นเพรียงชนิดเดียวที่ไม่ยึดเกาะอยู่กับที่ แต่จะอาศัยการลอยน้ำ โดยผลิตสารพิเศษชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่คล้ายโฟมหรือฟองน้ำในตัวมันเอง ทำให้สามารถลอยน้ำได้เช่นเดียวกับแมงกะพรุน จริงๆ แล้วเพรียงชนิดนี้จัดเป็น Stalked barnacle ประเภทหนึ่ง

4.Deep-sea stalked barnacle หรือ เพรียงคอห่านน้ำลึก

เพรียงกลุ่มเดียวกับ goose barnacle ที่รักสงบที่ชื่นชอบการอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำลึก พบบ่อยบริเวณเกาะที่อยู่ติดกับภูเขาไฟที่อุดมไปด้วยสารอาหาร เจ้าตัวนี้สามารถอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงถึง 400 องศาเซลเซียส แถมยังสามารถทนสารพิษจากปล่องภูเขาไฟได้อีกด้วย! เรียกเพรียงกลุ่มนี้ว่า Deep-sea hotvent stalked barnacle หรือ Hydrothermal vent stalked barnacle

5.Parasitic barnacle หรือ เพรียงปรสิต

เพรียงกลุ่มนี้หน้าตาตอนโตดูแตกต่างไปจากเพรียงที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด แต่ระยะตัวอ่อนมันเหมือนกับเพรียงกลุ่มอื่น ๆ จึงจัดว่าเป็นเพรียง เหมือนกัน แต่จัดอยู่ในกลุ่มไรโซเซฟาลา (Rhizocephala) พวกนี้เป็นกาฝากของสัตว์ในเครือญาติเดียวกัน โดยเฉพาะปู ซึ่งเรียกเพรียงนี้ที่พบในปูว่า Crab hacker barnacle (Sacculina spp.) หรือ เพรียงอ่อน (เพราะไม่มีเปลือกมาหุ้มตัว) หรือ เพรียงปู ความร้ายกาจของเพรียงชนิดนี้คือมันทำให้ปูทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นหมัน และยังทำให้ปูเข้าใจผิดว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง แต่จริงๆ แล้วกำลังดูแลตัวเพรียงที่เกาะติดเป็นกาฝากอยู่นั่นเอง

เพรียงชนิดนี้สร้างระบบที่คล้ายรากเข้าไปแทรกตามอวัยวะภายในตัวปูแล้วดูดเอาสารอาหาร การมีระบบคล้ายราก (Root system) ของเพรียงชนิดนี้จึงเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม Rhizocephala โดย Rhizo มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก rhiza ที่แปลว่า “ราก”

6.Burrowing barnacle หรือ เพรียงอะโครโทราซิแคน

เป็นเพรียงนักขุดเรียกอย่างเป็นทางการว่า Acrothoracican barnacle ที่ชอบอาศัยอยู่ในโครงสร้างหินปูนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิดโดยเฉพาะหอยและปะการัง เพรียงพวกนี้แตกต่างไปจากเพรียงหินและเพรียงคอห่านที่พวกมันไม่มีแผ่นเปลือกแข็งหินปูนของตัวมันเอง แต่ต้องไปอาศัยอยู่กับโครงสร้างหินปูนของสัตว์อื่นๆ

เพรียงหิน เพรียงคอห่าน เพรียงทุ่น เพรียงคอห่านน้ำลึก เพรียงปรสิต และเพรียงอะโครโทราซิแคน ล้วนเป็นกลุ่มเดียวกันภายใต้ Cirripedia หรือ กล่าวง่ายๆ ว่า เพรียงใน Cirripedia สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ เพรียงหิน เพรียงคอห่าน เพรียงปรสิต และเพรียงอะโครโทราซิแคน

นอกจากนั้นยังมีสิ่งมีชีวิตในภาษาไทย ที่มีคำว่า “เพรียง” ได้แก่ แม่เพรียง และ เพรียงหัวหอม สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้อยู่คนละกลุ่มระดับไฟลัมกับเพรียงหิน โดยแม่เพรียงพวกนี้พบในทะเลคล้ายๆ หนอน อยู่ในไฟลัม Annelida (กลุ่มเดียวกับไส้เดือนดิน) และเพรียงหัวหอมพวกนี้มีวิวัฒนาการใกล้กับคนเรามากกว่าเพรียงหินและแม่เพรียง พวกมันตอนระยะตัวอ่อนมีโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ของไฟลัม Chordata (สัตว์ในกลุ่มนี้รวมถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด)

เชื่อว่าเพื่อนๆ น่าจะได้คำตอบแล้วว่าก้อนทึมๆ บนเปลือกหอย ไม่ใช่หินอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่คือ “เพรียงหิน” เพื่อนร่วมโลกของเราอีกหนึ่งตัว


ภายใต้โลกกว้างใหญ่นี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายหลายล้านชีวิตที่เรายังไม่รู้จัก เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น ของใกล้ตัวที่คุณมองข้าม อาจซ่อนบางอย่างที่คุณไม่รู้ไว้ก็เป็นได้~~


ผศ.ดร. วรนพ สุขภารังษี

ผู้ตรวจสอบข้อมูล

Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์