RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ความรู้และแนวปฎิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ไก่ชนไทย


การละเล่นไก่ชนมีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ดังปรากฏในตำนาน นิทานและพงศาวดาร เช่น นิทานเรื่องนางสิบสอง พระรถเสนมีไก่ชนตัวเก่งสามารถชนไก่ชนะเจ้าเมือง ชาวบ้านแถบอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีเชื่อกันว่า ไก่ชนพันธุ์ท้องถิ่นที่เรียกว่า ไก่พระรถ สืบสายพันธุ์มาจากไก่พื้นเมืองแถบเมืองโบราณในจังหวัดชลบุรีฉะเชิงเทรา ที่เรียกว่า เมืองพระรถ ส่วนหลักฐานทางพงศาวดาร ปรากฏเรื่องการชนไก่ของพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ครั้งยังประทับอยู่ในฐานะเชลยที่พม่า ไก่ของพระนเรศวรที่ชนะเป็นไก่ชนสายพันธุ์ไทยที่เรียกว่าไก่เหลืองหางขาว หรือไก่พระเจ้าห้าพระองค์ ชาวบ้านถือว่าไก่สายพันธุ์นี้เป็นไก่เจ้า ไก่งาม ไก่สง่า ลักษณะคือ ปากขาว ขาขาว เดือยขาว เล็บขาวและหางขาว

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

ไก่ชนสายพันธุ์ไทยเป็นไก่ขนาดกลาง มีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ลักษณะเด่นของเชิงไก่สายพันธุ์ไทยคือ เป็นไก่กอด ไก่ล็อค กดหัว จิกตี ขณะชนจะคลุกเข้าวงใน เอาหัวมุดงัดปีกฝ่ายตรงข้ามแล้วหมุนเป็นวงกลมหาจังหวะ เมื่อได้จังหวะจะจิกหัวฝ่ายตรงข้ามแล้วจึงกระโดดเตะ(ตี) การละเล่นไก่ชนมีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ดังปรากฏในตำนาน นิทานและพงศาวดาร เช่น นิทานเรื่องนางสิบสอง พระรถเสนมีไก่ชนตัวเก่งสามารถชนไก่ชนะเจ้าเมือง ชาวบ้านแถบอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เชื่อกันว่า ไก่ชนพันธุ์ท้องถิ่นที่เรียกว่า ไก่พระรถ สืบสายพันธุ์มาจากไก่พื้นเมืองแถบเมืองโบราณในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ที่เรียกว่า เมืองพระรถ ส่วนหลักฐานทางพงศาวดาร ปรากฏเรื่องการชนไก่ของพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ครั้งยังประทับอยู่ในฐานะเชลยที่พม่า ไก่ของพระนเรศวรที่ชนะเป็นไก่ชนสายพันธุ์ไทยที่เรียกว่า ไก่เหลืองหางขาว หรือไก่พระเจ้าห้าพระองค์ ชาวบ้านถือว่าไก่สายพันธุ์นี้เป็นไก่เจ้า ไก่งาม ไก่สง่า ลักษณะคือ ปากขาว ขาขาว เดือยขาว เล็บขาวและหางขาว แต่ละภูมิภาคของไทยมีความนิยมไก่ชนสายพันธุ์แตกต่างกันดูได้จาก สี ขน และรูปร่างลักษณะ ปัจจุบันสายพันธุ์ไก่ชนที่ได้การรับรองจากสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทยมีทั้งหมด 10 สายพันธุ์ ได้แก่
1. เหลืองหางขาว (พัฒนามาจากไก่อูแถบบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก)
2. ประดู่หางดำ (พัฒนามาจากไก่อู แถบจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรากรุงเทพมหานคร สิงห์บุรีและอ่างทอง)
3. เขียวหางดำ (พัฒนามาจากไก่อูแถบจังหวัดภาคตะวันออกแถบชลบุรี เรียก ไก่พระรถ ทางอุตรดิตถ์ เรียก เขียวพาลี หรือ เขียวพระยาพิชัยดาบหัก)
4. เทาหางขาว (มีแหล่งกำเนิดแถบจังหวัดตาก ชลบุรี (พนัสนิคม) เพชรบุรี (อำเภอบ้านแหลม)
5. นกแดงหางแดง (จังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก นครสวรรค์ และพระนครศรีอยุธยา)
6. ทองแดงหางดำ (พบทั่วไปในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยาและชลบุรี)
7. นกกดหางดำ (มีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดนครสวรรค์ ราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี)
8. ลายหางขาว (เป็นไก่ที่มาจากภาคเหนือแถบเชียงราย พะเยา เพชรบุรี)
9. เขียวเลาหางขาว (มีแหล่งกำเนิดแถบกำแพงเพชร เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก เพชรบุรี)
10. ประดู่เลาหางขาว (อำเภอหนองจอก มีนบุรี กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์)
ลักษณะเบื้องต้นของไก่ชน คือ ต้องแข็งแรง รูปร่างดี เชิงดี ตีเจ็บ และหลบหลีกเก่ง ลักษณะไก่ชนที่ดี ต้องมีลักษณะ หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ปลายกดกระหม่อม สร้อยระย้า หน้านกยูง ไหล่ยก อกตั้งหางพุ่งยาว นอกจากนี้ ไก่ชนต้องมีช่วงคอใหญ่ ลำตัวสูงโปร่ง แข้งยาวเรียวเล็ก มีเกล็ดใหญ่เต็มนิ้วเรียวยาวมีเกล็ดประมาณ 20 เกล็ด ตากลมใสคล้ายตาเหยี่ยว มีสีสันถูกโฉลก คือ สีปากกับสีแข้งต้องเหมือนกัน เช่น ปากขาวแข้งขาว เป็นต้น ไก่ชนที่ปลดระวางแล้วมักได้เป็นพ่อพันธุ์ ดังนั้น การเล่นไก่ชนจึงเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ไก่โดยวิธีธรรมชาติ กล่าวได้ว่า การที่ไก่พื้นเมืองไทยปัจจุบัน แข็งแรง ต้านทานโรค เลี้ยงลูกเก่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการคัดเลือกไก่สายพันธุ์ดีจากการเล่น “ไก่ชน” ของคนไทยนั่นเอง

ไก่ชนไทย พัฒนามาจากไก่บ้านที่มีถิ่นกำเนิดในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Gallus gallus Domesticus ไก่เป็นสัตว์เลี้ยงของชาวนาไทยมานมนานไม่สามารถระบุหลักฐานได้แน่ชัด เพราะอาหารหลักของไก่คือข้าวเปลือกและแมลงต่างๆ คนในวัฒนธรรมข้าวจึงล้วนเลี้ยงไก่ควบคู่มากับควายหรือวัว ที่ใช้ในการทำนา ขณะเดียวกันธรรมชาติของไก่ตัวผู้นั้นมีความเป็นนักสู้ที่ชอบจิกตีกันเป็นประจำ เด็กผู้ชายในอดีตจึงนิยมนำไก่มาเล่นชนกัน และพัฒนาเป็นการละเล่นพื้นบ้านและการพนันไปในที่สุด โดยมีค่านิยมว่า ผู้ที่มีไก่ชนเก่ง ไว้ครอบครองแสดงถึงบารมีและความเป็นลูกผู้ชาย ขณะเดียวกันไก่ชนในอุดมคติของนักเลงไก่ไทยควรจะมีลักษณะ “เชิงไทย ไวพม่า หนังหนาแบบเวียดนาม” กล่าวคือ มีฝีมือในการชนแบบไก่ชนสายพันธุ์ไทย มีความว่องไวแบบไก่ชนสายพันธุ์พม่า และมีความอดทนสูงแบบไก่ชนสายพันธุ์เวียดนาม

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2557, 1, สํานักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2557, หน้า 233.