ถอดรหัสความเผ็ดชาแบบ ‘หม่าล่า’ อาหารสไตล์จีนที่สายกินหลงรัก
เผยแพร่ : 2/1/2566
จำนวนผู้เข้าชม : 821
ในปี 2023 นี้ ประเทศได้เข้าสู่ยุคของหม่าล่าครองเมืองเป็นที่เรียบร้อย เพราะไม่ว่าคุณจะหันหน้าไปทางไหน ก็จะเจอแต่ร้านหม่าล่าเปิดใหม่มาไม่เว้นแต่ละวัน ด้วยรสชาติที่เผ็ดชาลิ้นแบบเฉพาะตัว ผสมผสานกับกลิ่นหอมชวนน้ำลายสอของมันเนื้อ จึงไม่แปลกที่อาหารสุดฮอตจากจีนอันนี้ จะกลายเป็นเมนูโปรดในดวงใจใครหลายคนไปอย่างง่ายดาย
แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว หม่าล่า ไม่ใช่ชื่อของเครื่องเทศที่ให้ความเผ็ดร้อน แต่มาจากการรวมตัวระหว่างตัวอักษรจีน 2 ตัว คือ หม่า ที่แปลว่าการทำให้ชา และ ล่า ที่แปลว่าเผ็ดฉุนนั่นเอง ซึ่งถ้าอยากรู้แล้วว่า อะไรคือเบื้องหลังความเผ็ดชาของหม่าล่านั้น ก็ตามไปอ่านกันเลย
ฮวาเจียว อาวุธลับความเผ็ดในหม่าล่า
สิ่งที่ทำให้หม่าล่าเผ็ดชาแบบเป็นเอกลักษณ์นั้น ต้องยกความดีความชอบให้กับ ฮวาเจียว (huājiāo) หรือพริกไทยเสฉวน ที่มีต้นกำเนิดมาจากมณฑลเสฉวน ในจีน โดยเป็นพืชที่มีลักษณะเป็นพวงคล้ายพริกไทย มีผิวขรุขระเล็ก ๆ และมีกลิ่นหอมแรงที่มาพร้อมรสชาติเผ็ดชาลิ้นเป็นเอกลักษณ์
สาเหตุที่ทำให้ฮวาเจียวมีความเผ็ดที่หาที่ไหนไม่ได้นั้น มาจากสารที่อยู่ภายในเมล็ดที่มีฤทธิ์กระตุ้นปุ่มรับสัมผัสให้สั่นสะเทือน จนเกิดอาการชา และยิ่งนำมาผ่านความร้อน ก็จะยิ่งชามากยิ่งขึ้น
ฮวาเจียว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามพื้นที่การปลูก นั่นก็คือ สีเขียว ที่เหมาะกับการนำไปทำอาหารต้มและนึ่ง และสีแดง ที่เหมาะกับการปิ้งย่าง
ประโยชน์และข้อควรระวังของหม่าล่า
นอกจากความเผ็ดที่ทำให้เอ็นโดฟินหลั่งเวลากินแล้ว หม่าล่ายังทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญที่ดี ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับเรา จึงไม่แปลกที่หม่าล่าจะเป็นอาหารประจำภูมิภาคในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หรือ ในแถบเมืองเฉิงตู และ เมืองฉงชิ่ง ซึ่งมีอากาศที่หนาวเย็นในเขตที่ราบสูง
แต่ข้อควรระวังคือ น้ำหม่าล่าไม่เหมาะกับการซดแบบเพียว ๆ เพราะความเผ็ดร้อนอาจทำให้ลำไส้เกิดอาการแปรปรวน และส่งผลให้ท้องเสีย วิธีแก้มีทั้ง การผสมน้ำซุปกระดูกหมู และผสมน้ำใส หรือจะแยกน้ำซุปเป็นถ้วยสำหรับซดไว้เลย ส่วนหม่าล่า เอาไว้แค่ลวกเนื้อก็พอ
ใครที่เป็นสาวกหม่าล่า ก็กินกันอย่างพอดีนะคะ จะได้อร่อยและสุขภาพดีไปพร้อม ๆ กัน~
Writer
ปองกานต์ สูตรอนันต์
Photographer
นฤมล เสือแจ่ม