มารู้จัก “ยางนา” ไม้มากประโยชน์
เผยแพร่ : 20/2/2567
จำนวนผู้เข้าชม : 34,243
ช่วงปลายฤดูหนาวนี้ หากพื้นที่ใดมีต้นยางนาขึ้นอยู่ ลองก้มดูโคนต้นหรือแหงนหน้ามองด้านบนต้น อาจพบช่อดอกยางนา
ลักษณะดอกของต้นยางนา
ดอกยางนา ประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ขนาดดอกช่างไม่สมดุลกับความสูงใหญ่เปลาตรงของต้นยางนาที่ยืนตระหง่าน ยางนามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae
ปีกสีแดงของผลยางนา
เมื่อเวลาผ่านไปสักเดือนย่างเข้าฤดูร้อน เราจะเริ่มเห็นดอกยางนาพัฒนาเป็นผลมีปีกสีแดงเรื่อดูน่าอัศจรรย์ ปีกสีแดงเหล่านั้น ก็คือกลีบเลี้ยงที่ยังคงติดคงทนกับผลนั้นเอง นักพฤกษศาสตร์จำแนกผลแบบนี้ว่า “samaroid” หมายถึง ผลแห้งมีกลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีก ก็เพื่อการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ให้ปลิวไปเจริญได้ไกลๆ นั้นเอง
บางท่านอาจดูเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตแบบคนเมืองอาจไม่เคยเห็นผลยางนา ที่เจริญบนต้นแม่หรือแม้กระทั่งผลแห้ง การพาเด็กๆ ออกไปสัมผัสธรรมชาติ ถือเป็นกิจกรรมกระตุ้นความช่างสังเกตและส่งเสริมใจรักธรรมชาติ
การนำไม้ยางนามาใช้งาน
ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่เองเมื่อเห็นลำต้นยางนามีขนาดใหญ่และเปลา อาจนึกถึงการนำไม้ยางนามาใช้งานด้านต่างๆ โดยเฉพาะงานก่อสร้าง ต้นไม้ทุกชนิดล้วนมีเนื้อไม้ที่แตกต่างกันไป การจะเลือกนำไม้ชนิดใดมาใช้ให้ตรงวัตถุประสงค์ ต้องพิจารณาจากค่ากลสมบัติและความทนทานเป็นหลัก
สำหรับไม้ในสกุลยาง (Dipterocarpus spp.) กลุ่มงานพัฒนาผลิตผลป่าไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ (2553) ระบุไว้ว่าเป็นไม้ชั้นคุณภาพ B มีความแข็งแรงปานกลาง มีความทนทานตามธรรมชาติ 2-6 ปี
แต่อย่างไรก็ตามความแข็งแรงทนทานของไม้ในปัจจุบันอาจพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การอบไม้ การอาบน้ำยารักษาเนื้อไม้ ไม้ยางนาถือว่าใช้ในงานก่อสร้างได้ในบางกรณี เช่น ทำไม้ฝา ไม้พื้น แต่ไม่เหมาะแก่การทำเสาเรือน หากต้องการไม้ชั้นคุณภาพ A ซึ่งเป็นไม้ชั้นคุณภาพดีและมีความทนทาน ต้องเลือกไม้สัก ตะเคียนทอง พะยูง มะค่าโมง กระบก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่ายางนา จัดเป็นพืชมีประโยชน์และมีเอกลักษณ์อย่างชัดเจนเลยทีเดียว โดยเฉพาะลักษณะผลของมันที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก ช่วงปลายฤดูหนาวนี้หากลองสังเกตผลของต้นไม้รอบตัวอาจจะเจอต้นยางนาอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดก็ได้นะ
แหล่งที่มา 1. กลุ่มงานพัฒนาผลิตผลป่าไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้. (2553). คุณลักษณะของไม้ไทย. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ. 2. ชุมพล คุณวาสี. (2557). สัณฐานวิทยาเบื้องต้นในการระบุชื่อวงศ์พืชดอกสามัญ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.
Writer
Photographer
ทีมงาน RSPG