RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

เพราะทุกที่คือรันเวย์ ชมแฟชั่นการแต่งตัวของปูสุดปัง จาก “ปูแต่งตัว” (Decorator crabs)

คุณกำลังอ่าน
เพราะทุกที่คือรันเวย์ ชมแฟชั่นการแต่งตัวของปูสุดปัง จาก “ปูแต่งตัว” (Decorator crabs)

เผยแพร่ : 1/8/2564

จำนวนผู้เข้าชม : 1,152

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง

แต่ใครกำหนดว่าการแต่งตัวต้องเป็นเรื่องของคนอย่างเดียวเท่านั้นล่ะ?
วันนี้เราจะพาทุกคนไปเปิดโลกของเจ้าแห่งแฟชั่นการแต่งตัวใต้ท้องทะเลของเจ้า “ปูแต่งตัว” ที่ยืนหนึ่งเรื่องความสวยทุกคอลเลคชั่น! พร้อมสร้างคำนิยามใหม่ให้รู้ไปเลยว่า ความสวยไม่จำกัดสปีชีส์! เคลียร์รันเวย์ให้พร้อม แล้วรอชมแฟชั่นโชว์สุดปังกันเลย!

กว่าจะเป็นดีไซเนอร์ผู้คร่ำหวอด

ปูแต่งตัว (Decorator Crab) เป็นปูในกลุ่มหนึ่งของปูแมงมุม ลักษณะเด่นคือกระดองเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือรูปกรวย ขาเดินคู่แรกเป็นก้ามหนีบที่มีขนาดเล็ก ส่วนขาเดิน 4 คู่หลังยาวมาก ลักษณะคล้ายคลึงกับขาแมงมุม เพราะร่างกายที่บอบบางเหล่านี้ของปูแมงมุมทำให้กลายเป็นจุดอ่อนดึงดูดศัตรูให้พุ่งเข้าใส่ได้ไม่ยาก

ดังนั้นเพื่อเอาชีวิตรอด ปูแมงมุมพวกนี้จึงต้องใช้กลยุทธ์ในการพรางตัวเลียนแบบธรรมชาติ โดยหยิบจับเอาวัสดุตามพื้น ไม่ว่าจะเป็นหิน ทราย เปลือกหอย ซากปะการัง สาหร่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย มาติดประดับไว้ที่ตัว จนเป็นจุดกำเนิดของการแต่งตัว ที่เราได้เห็นกันนั่นเอง

สวยแบบกลมกลืน เทคนิคการสร้างชุดสุดปัง

เพราะต้องอำพรางตัวจากสัตว์ร้ายโดยการแต่งตัวให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ในปี 1889 William Bateson นักชีววิทยาชาวอังกฤษได้สังเกตพฤติกรรมในการแต่งตัวของปูซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อนโดยเริ่มจากการทำความรู้จักกับชิ้นส่วนของสิ่งที่ปูจะนำมาตกแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งที่สามารถบิดงอและแตกหักง่าย เช่น ฟองน้ำ สาหร่าย ไบโอซัว

วิธีการแต่งตัวในสไตล์ของปูแต่งตัวทำได้ไม่ยาก โดยเริ่มจากใช้ก้ามหนีบที่มีลักษณะคล้ายปากคีบ ทำหน้าที่ในการแยกชิ้นส่วน ของสาหร่ายและเศษวัสดุต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นทะเล หรือบางครั้งมันอาจใช้ก้ามหนีบนี้หักกิ่งของพืชน้ำหรือชิ้นส่วนของฟองน้ำต่าง ๆ ส่งเข้าปากเพื่อตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ให้มีขนาดและความยาวที่พอเหมาะ รวมถึงมีขอบที่ขรุขระ เพื่อให้เหมาะสำหรับการนำมาแปะติดไว้บนกระดองที่มีขนแข็ง ๆ จนกว่าจะได้ชุดที่มันพอใจ นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุในการแต่งตัวเพื่อพรางตัวจากสัตว์ร้ายนั้น พวกมันมักจะเลือกใช้เศษฟองน้ำที่มีพิษซึ่งเป็นอันตรายกับเหล่านักล่าที่จ้องจะงาบพวกมันอยู่

Hugh Bamford Cott นักสัตววิทยาชาวอังกฤษได้อธิบายความพิเศษของกระบวนการแต่งตัวของปูว่า พวกมันใช้การอำพรางตัวด้วยสิ่งของที่พบได้มากในบริเวณนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมันอยู่ในดงสาหร่ายทะเล พวกมันจะฉีกสาหร่ายพวกนั้นมาพันรอบตัว เพื่อให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมมากที่สุด แต่ถ้าอยู่ดี ๆ เกิดโดนจับย้ายไปอยู่ในดงปะการัง พวกมันจะทำการสลัดสาหร่ายพวกนั้นทิ้งแล้วหยิบเศษปะการังที่หักขึ้นมาเสียบไว้ตามตัวเพื่อให้กลมกลืนมากที่สุด ไม่น่าเชื่อว่ากระบวนการ DIY ชุดใหม่นั้น ใช้เวลาเพียงแค่ 1 คืน ที่ย้ายมาเท่านั้น ! อัศจรรย์จริง ๆ !

สวยแบบแตกต่าง วิธีการล่อเหยื่อสุดสร้างสรรค์

หลายคนอาจคิดว่าการแต่งตัวของปูนั้น ทำเพื่ออำพรางตัวเพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้วพวกมันยังใช้การแต่งตัวให้สวยโดดเด่นแตกต่างจากสิ่งแวดล้อมเพื่อล่อเหยื่อและหาอาหารอีกด้วย!

บ่อยครั้งที่เราสามารถพบปูที่แต่งตัวด้วยวัสดุสีขาวตัดกับดงสาหร่ายสีแดงที่มันอาศัยอยู่ สาเหตุที่ทำเช่นนี้ เพื่อเป็นการใช้ความสวยงามหลอกล่อให้เหยื่อตายใจจนคิดว่ามันไม่ใช่ปู แต่เป็นปะการังสวย ๆ สักต้นหนึ่ง เมื่อเหยื่อเข้ามาหวังจะเชยชมความงาม รู้ตัวอีกทีก็อาจชะตาขาดโดยไม่ทันตั้งตัว

พฤติกรรมการแต่งตัวของปูแต่งตัวนั้น เป็นหลักฐานอันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของสัตว์เพื่อความอยู่รอด การปรับตัวดังกล่าวมีผลทำให้ปูกลุ่มนี้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบันนี้

เปิดรันเวย์ ชมคอลเลคชั่นชุดในตำนาน

เกริ่นกันมานานแล้ว ได้เวลาพบกับการแต่งตัวสุดปังของปูแต่งตัวที่เราคัดมากันเลย! รับรองว่าสวยทุกชุดแน่นอน 

เห็นการแต่งตัวของปูแต่งตัวแล้ว บอกเลยว่าปราณีตทุกชิ้น! เป็นการแต่งตัวที่ประหยัดโดยใช้สิ่งของใกล้ตัวที่สวยระดับเดินบนรันเวย์ ใครดูแล้วก็คงจะได้แรงบันดาลใจในการแต่งตัว ก็ลองหยิบเอากระดาษ ถุงพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม มาประดิษฐ์เป็นชุดดูบ้าง ไม่แน่ว่าอาจปังแบบไม่รู้ตัว

รศ.ดร. นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร

ผู้ตรวจสอบข้อมูล

Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์