RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ถ้าป่าชายเลนไม่มีปูแสม? ความสำคัญของปูตัวเล็ก แต่ประโยชน์ใหญ่

คุณกำลังอ่าน
ถ้าป่าชายเลนไม่มีปูแสม? ความสำคัญของปูตัวเล็ก แต่ประโยชน์ใหญ่

เผยแพร่ : 12/10/2564

จำนวนผู้เข้าชม : 1,365

เมื่อพูดถึง “ป่าชายเลน” 
เชื่อว่าทุกคนที่เคยผ่านการเรียนการสอนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี งั้นมาพิสูจน์กันสักหน่อย ลองหลับตาและจินตนาการภาพป่าชายเลนในหัวกันดูสิ

“รากของต้นโกงกางที่โผล่พ้นน้ำทะเลขึ้นมา ปลาตีนที่ว่ายวนอยู่รอบ ๆ กุ้ง หอยที่อยู่ใกล้ ๆ โขดหิน รวมไปถึงนกทะเลที่บินวนท้าแสงแดด …..”

ดูเหมือนจะลืมอะไรไปอย่างนะ สิ่งสำคัญซะด้วย ลองมองเข้าไปตรงรูเล็กๆ ในโคลนดูสิ เห็นก้ามเล็กๆ ของมันหรือไม่? ใช่แล้ว! เรากำลังหมายถึง “ปูแสม” ปูตัวเล็กที่เป็นกำลังสำคัญในการทำให้ป่าชายเลนเป็นป่าชายเลนอย่างทุกวันนี้

ปูแสม ปูซ่อนแอบที่หาได้ตามรูโคลน

ปูแสม หรือปูเค็มที่แม่ค้าร้านส้มตำเรียก มีชื่อทางการในแวดวงวิทยาศาสตร์ว่า Sesarma Mederi  เป็นปูที่มีกระดองทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลดำ ก้ามขาด้านหน้าทั้งสองสีบานเย็นอมม่วง แข็งแรงพร้อมหนีบผู้ต่อสู้ อุปนิสัยคือชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นโคลน โพรงหิน หรือตามซอกรากโกงกาง ที่สำคัญคือเจ้าปูตัวเล็กนี่มีพี่น้องร่วมสายพันธุ์มากถึง 29 สกุล 71 ชนิดเลยทีเดียว

วิธีการเมกเลิฟของเจ้าปูแสมนั้นแตกต่างจากสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ โดยมันจะใช้การผสมพันธุ์แบบภายใน (Internal Fertilization) แม่ปูที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะเก็บไข่ไว้ด้านในตัว  ตลอดเวลาที่เก็บไข่ แม่ปูจะคอยฟูมฟักทำความสะอาดไข่ให้สะอาดอยู่เสมอ รังหนึ่งรังจะมีไข่ประมาณ 12,000 – 82,000 ฟอง

เมื่อผ่านไป 14-15 วัน ก็จะถึงเวลาที่ไข่พร้อมจะฟักเป็นตัว แม่ปูจึงปล่อยไข่ออกมา ซึ่งกำหนดการปล่อยลูกๆ ในลืมตาดูโลก หรือช่วง “ปูชะไข่” นั้นมีอยู่ 2 ช่วงคือ เดือนเมษายน – กรกฎาคม และกันยายน – พฤศจิกายน โดยบรรดาแม่ๆ จะเคลื่อนทัพลงสู่ทะเลแล้วปล่อยไข่ในน้ำ ให้ไข่ลอยออกไปสู่ทะเล เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกใบใหม่ต่อไป

ช่วงเวลา Productive ของเจ้าปูแสมนั้นจะอยู่หลังจากพระอาทิตย์พ้นขอบฟ้าไปแล้ว โดยพวกมันจะออกจากรูที่นอนอุดอู้อยู่ตลอดกลางวัน เพื่อเตรียมพร้อมในการออกหากินตอนกลางคืน อาหารจานโปรดของปูแสมนั้น ง่ายกว่าที่หลายคนคิด พวกมันชอบกินซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้ว รวมถึงใบไม้สด และดินทรายตามพื้น เพราะนิสัยชอบเก็บของเหลือทิ้งกินนี่เองที่ทำให้มันสร้างประโยชน์ให้แก่ป่าชายเลนได้อย่างไม่น่าเชื่อ!

ปูเล็ก ประโยชน์ใหญ่

เมื่อพูดถึงปูแสม เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงส้มตำปูแซ่บๆ ที่เสิร์ฟมาพร้อมปูเค็มตัวจ้อยที่อร่อยอย่าบอกใคร แต่ปูแสมไม่ได้มีประโยชน์แค่ตอนกลายเป็นอาหารเท่านั้น ในตอนที่พวกมันยังมีชีวิตอยู่ พวกมันได้คอยสร้างประโยชน์ให้แก่เราอย่างมากมาย โดยที่เราไม่รู้ตัว

สำหรับป่าชายเลนแล้ว ขึ้นชื่อว่า “ป่า” แน่นอนว่ามันต้องเต็มไปด้วยเศษใบไม้ที่ร่วงตามพื้น รวมไปถึงซากพืช ซากสัตว์ที่หมดอายุไขตามกาลเวลา จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสิ่งที่ดูเหมือนขยะในสายตาคนทั่วไปถูกสะสมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีผู้เก็บกวาด? ภาพที่จะเกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นกองขยะกองโตที่เน่าเหม็นและทำให้น้ำเสียในที่สุด 

แต่เพราะป่าชายเลนมีผู้เก็บกวาดมืออาชีพอย่าง “ปูแสม” ทำให้ปัญหาเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น พวกมันจัดการเศษซากเหล่านั้นด้วยการกิน และขับถ่ายออกมาเป็นปุ๋ยชั้นดี ที่ช่วยบำรุงต้นไม้ให้เติบโตงอกงามเป็นร่มเงาให้แก่สัตว์น้อยใหญ่ต่อไป


โชคร้ายที่ปูแสมนั้นมีรสชาติที่อร่อยถูกปากชาวบ้าน ทำให้พวกมันโดนจับไปตำส้มตำอยู่บ่อยครั้ง จนปัจจุบันเริ่มหายากขึ้นไปทุกที เพราะปูรุ่นใหม่เกิดทดแทนปูที่ถูกกินไม่ทัน หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป ไม่แน่ว่าปูแสมอาจสูญพันธ์ุในไม่ช้า และวันใดที่ป่าชายเลนไม่มีปูแสม วันนั้นจะเป็นอย่างไร หลายคนน่าจะรู้ดี…


รศ.ดร. นงนุช ตั้งเกริกโอฬาร

ผู้ตรวจสอบข้อมูล

Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์