RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ส่องเบื้องหลัง “อาหารกระป๋อง” วิธีการเก็บรักษาอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก !

คุณกำลังอ่าน
ส่องเบื้องหลัง “อาหารกระป๋อง” วิธีการเก็บรักษาอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก !

เผยแพร่ : 27/11/2566

จำนวนผู้เข้าชม : 521

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเก็บรักษาอาหาร” คืออีกหนึ่งวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์เราให้ดีขึ้น และเพิ่มความสะดวกสบายให้อีกหลายเท่าตัว ซึ่งหนึ่งในนวัตกรรมที่เป็นการเก็บรักษาอาหารที่แพร่หลายก็คือ “อาหารกระป๋อง” นั่นเอง

อาหารกระป๋อง คือตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราพกพาอาหารไปเติมท้องให้อิ่มได้ทุกที่ ทุกเวลา ช่วยให้เราเอาชนะเวลา และยืดระยะการเก็บรักษาอาหารให้นานขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าจะเป็นอาหารกระป๋องที่เราคุ้นเคยนั้น มีจุดเริ่มต้นจากอะไร

กำเนิดอาหารกระป๋อง กับวิกฤตของกองทัพ

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2338 กองทัพฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร ไม่สามารถกินผักและผลไม้ ระหว่างการเดินทางบนเรือได้ เพราะมันจะเน่าเสียก่อน ทำให้ทางนโปเลียนมหาราช ได้ออกมาประกาศว่าใครที่สามารถคิดค้นวิธีถนอมอาหารได้นั้น จะได้รับเงินรางวัลสูงถึง 12,000 ฟรังก์

โดยผู้ที่คิดค้นวิธีได้ก็คือ Nicolas Appert ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาผู้ให้กำเนิดวิธีการบรรจุกระป๋อง’  โดยเค้าได้นำปลามาใส่ในขวดแก้ว ปิดผนึกด้วยขี้ผึ้ง จากนั้นก็นำไปไว้ในน้ำเดือด ช่วยให้อาหารไม่เน่าเร็ว และยืดระยะเวลาได้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ขวดแก้ว ก็เกิดปัญหาอีกมากมายตามมา เพราะอาจแตกหักระหว่างการขนส่งและเดินทางได้ ทำให้ในเวลาต่อมา Peter Durand นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ได้เสนอให้มีการใช้ภาชนะใหม่ที่ชื่อว่า “กระป๋อง” แทน ปรากฏว่าการใช้กระป๋องในการบรรจุส่งผลให้ลดปัญหาเรื่องการขนส่งไปเยอะทีเดียว


ขั้นตอนการบรรจุกระป๋อง

หลังจากรู้ประวัติคร่าว ๆ ของอาหารกระป๋องแล้ว ต่อมาเรามาทำความรู้จักวิธีการเอาอาหารใส่ลงกระป๋องดีกว่า ว่าจะมีขั้นตอนยังไงบ้าง

  1. การเตรียมวัตถุดิบ : เพื่อเตรียมวัตถุดิบให้อยู่ในรูปที่พร้อมสำหรับการบรรจุกระป๋อง โดยมีวิธีย่อย ๆ อีกมากมาย เช่น การทำความสะอาด, การปอกเปลือก, คัดขนาด, การลวก เป็นต้น
  2. การบรรจุ : ในการบรรจุจะต้องไม่บรรจุจนเต็มพอดี เพราะระหว่างการให้ความร้อนจะมีการขยายตัวของของเหลว
  3. การไล่อากาศ : เพื่อให้ภายในกระป่องมีสภาวะเป็นสุญญากาศ (vacuum) เพื่อยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ที่ต้องการออกซิเจน และป้องกันปฏิกิริยาเคมีที่จะเกิดกับอาหาร
  4. ปิดผนึกสนิท : เพื่อป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ และสิ่งปนเปื้อนจากภายนอก รวมทั้ง ไอน้ำ อากาศ ผ่าน เข้าไปภายในบรรจุภัณฑ์ ภายหลังการฆ่าเชื้อแล้ว
  5. การฆ่าเชื้อด้วยความร้อน : โดยการใช้ความร้อนเพื่อทำลายจุลินทรีย์ ให้เพียงพอกับการฆ่าเชื้อระดับการค้า ตามอุณหภูมิและระยะเวลาที่กำหนด
  6. การทำให้เย็น : ภายหลังการฆ่าเชื้อแล้วต้องทำให้เย็นทันที เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่ทนร้อน ซึ่งอาจหลงเหลืออยู่เจริญได้ การทำเย็นทำได้โดยใช้น้ำเย็นที่สะอาด

Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

นฤมล เสือแจ่ม