RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

“แพลงก์ตอนบลูม” ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากขี้ปลาวาฬ ?!

คุณกำลังอ่าน
“แพลงก์ตอนบลูม” ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากขี้ปลาวาฬ ?!

เผยแพร่ : 7/11/2566

จำนวนผู้เข้าชม : 797

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวเรื่อง “น้ำทะเลเปลี่ยนสี” ของบางแสน ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็น รวมถึงส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ

ปรากฎการณ์นี้ไม่เกิดจากใครเผลอทำของเสียหกใส่ทะเล หรือเจ้าวาฬมาปล่อยของหนักใส่ แต่มันคือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “แพลงก์ตอนบลูม” ใช่แล้ว ! สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากแพลงก์ตอนตัวจิ๋วที่เรามองไม่เห็นนั่นเอง

ถ้าอยากรู้จักแพลงก์ตอนบลูมให้มากขึ้นนั้น ก็ตามไปอ่านความรู้ดี ๆ กันได้เลย


แพลงก์ตอนบลูม คืออะไร ?

อย่างที่เราทราบกันดีว่าในทะเลมีสัตว์หลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ ไม่ใช่เฉพาะปลา, กุ้ง หรือหมึกที่เรามองเห็น แต่ยังมีสัตว์เซลล์เดียวอย่าง “สาหร่าย” ที่ลอยอยู่ตามน้ำด้วย ซึ่งเจ้าสาหร่ายนี่แหละ เป็นต้นเหตุของปรากฎการณ์นี้

โดยหากสาหร่ายเหล่านั้นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล จนหนาแน่นขึ้น และสุดท้ายก็ปกคลุมทั่วทั้งทะเล จากที่เรามองไม่เห็น ก็จะเห็นน้ำทะเลเปลี่ยนสี ไปเป็นสีน้ำตาล, แดง หรือสีเขียวที่เราเห็นที่บางแสนนี่เอง

ซึ่งสาหร่ายที่เป็นต้นเหตุของปรากฎการณ์นี้ส่วนมากจะอยู่ในกลุ่ม ไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellate) นั่นเอง

สาเหตุของแพลงก์ตอนบลูม

เรารู้กันแล้วว่า แพลงก์ตอนบลูม เกิดจากการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของสาหร่ายเซลล์เดียว ซึ่งการเพิ่มจำนวนที่ไม่ปกตินั้น ก็มีสาเหตุเช่นเดียวกัน โดยมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิของผิวน้ำที่มีอบอุ่น, ความเค็มที่ลดลงของน้ำทะเล, สารอาหารที่เหมาะสมอย่างฟอสฟอรัสและไนโตรเจน เป็นต้น

นอกจากปัจจัยตามธรรมชาติข้างต้นแล้ว มนุษย์เราก็มีส่วนในการเพิ่มจำนวนเจ้าพวกนี้เช่นเดียวกัน ! ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำ (เช่น น้ำจากการเกษตร หรือน้ำจากผงซักฟอก) ซึ่งน้ำเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วยฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ที่สาหร่ายเหล่านั้นโปรดปรานนั่นเอง

ผลกระทบที่ห้ามมองข้าม

นอกจากกลิ่นเหม็นที่เป็นพิษต่อจมูกของมนุษย์แล้ว ปรากฎการณ์แพลงก์ตอนบลูม ยังส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ โดยทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และค่าแอมโมเนียสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ต้องตายเพราะขาดออกซิเจนจำนวนมาก


นับว่าปรากฎการณ์นี้ ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับชาวบางแสนอย่างเราจริง ๆ ใครที่อยู่แถวนั้น น่าจะปวดหัวกับกลิ่นเหม็นที่อบอวล แถมชาวประมงก็ต้องรับผลกระทบจากการที่ปลาตายเพราะขาดออกซิเจนอีกด้วย ดังนั้นแล้วเราจึงไม่ควรปล่อยของเสียลงทะเล เพื่อลดโอกาสการเกิดแพลงก์ตอนบลูมให้ได้มากที่สุดกันนะ !


Writer & Photographer

ปองกานต์ สูตรอนันต์