RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

4 เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับ ‘ข้าวหลาม’ ของฝากยอดฮิตประจำถิ่นหนองมน

คุณกำลังอ่าน
4 เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับ ‘ข้าวหลาม’ ของฝากยอดฮิตประจำถิ่นหนองมน

เผยแพร่ : 31/5/2565

จำนวนผู้เข้าชม : 7,368

‘ขนมข้าวแกง’ เป็นของดีเมืองเพชรฉันใด
‘ข้าวหลามหนองมน’ ก็เป็นของฝากยอดฮิตของชลบุรีฉันนั้น 
สัจธรรมที่ถึงแม้ไม่มีจารึกไว้ในคัมถีร์เล่มไหน แต่พวกเราชาวชลบุรีต่างรู้โดยทั่วกัน

ตั้งแต่เกิดจนโต ‘ข้าวหลาม’ กลายเป็นของหวานที่ปรากฎอยู่ในทุกมื้อ ไม่ว่าจะวันสำคัญ, งานเทศกาล ไปจนถึงของฝากให้แก่คนต่างถิ่น จึงไม่แปลกที่ข้าวหลาม กับคนชลบุรี กลายเป็นของคู่กันไปโดยปริยาย

แต่นอกจากรสหวานหอมมัน ที่ล่อลวงให้เราตักเข้าปากต่อเรื่อย ๆ และกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของกระบอกไม้ไผ่ ที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการกินแล้วนั้น ข้าวหลามยังมีเรื่องที่หลายคนไม่รู้ซ่อนอยู่ !

วันนี้เราจะขอรับบทยอดนักสืบ พาทุกคนไปขุดคุ้ยความลับในกระบอกไม้ไผ่ จากข้าวหลามหนองมนกันเลย ถ้าพร้อมแล้ว ก็ตามไปอ่านโล้ด

1.มาจากวัฒนธรรมการหุงข้าวด้วยไม้ไผ่

ประวัติความเป็นมาของข้าวหลามนั้น ค่อนข้างซับซ้อน แต่มีการสันนิษฐานว่ามาจากวัฒนธรรมของคนไทยภาคเหนือและอีสาน ที่มักจะกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก รวมไปถึง คนสมัยก่อนนิยมหุงข้าวกับกระบอกไม้ไผ่อยู่แล้ว เพราะจะช่วยชูรสชาติให้ข้าวมีความหอมกว่าปกติ

แต่บางแห่งก็สันนิษฐานว่า มาจากการที่ชาวบ้านต้องเก็บของป่าและล่าสัตว์ แต่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับทำอาหาร จึงใช้กระบอกไม้ไผ่มาตัด และใช้เป็นภาชนะในการหุงข้าวแทน ต่อมาจึงดัดแปลงเติมวัตถุดิบเข้าไปในข้าวตามแต่ละภูมิภาค

รวมไปถึงการดัดแปลงเป็นของหวานจากข้าวเหนียว โดยเพิ่มรสชาติด้วยกะทิ น้ำตาล และถั่ว จากนั้นนำไปเผา กลายเป็นข้าวหลาม ของหวานแสนอร่อยในปัจจุบัน

2. สมัยก่อนนิยมกินเฉพาะฤดูหนาว

แม้ปัจจุบัน เราจะสามารถหาซื้อข้าวหลาม และกินได้ในทุกฤดูกาล หรือเอาจริง ๆ ก็กินได้ในทุกมื้อด้วยซ้ำ แต่เชื่อหรือไม่ว่าในอดีต ข้าวหลาม เป็นอาหารที่หากินได้เฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น

ย้อนกลับไปสมัยก่อน ชาวบ้านนิยมทำข้าวหลามในช่วงฤดูหนาว โดยจะเตรียมทำข้าวหลามในช่วงเย็น จากนั้นช่วงเช้า ก็นำวัตถุดิบมากรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ และเตรียมเผาไฟ ระหว่างที่เผา ก็นั่งล้อมวงเพื่อผิงไฟไปในตัว เป็นการเพิ่มความอบอุ่นในหน้าหนาว แถมยังได้ของหวานอร่อย ๆ กิน

แต่บางแห่งก็สันนิษฐานว่านิยมทำในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้ได้ข้าวใหม่ที่มีความหอม เหมาะแก่การทำข้าวหลาม รวมไปถึงต้นไผ่ที่เกิดในช่วงฤดูฝน จะมีเยื่อบาง ๆ ที่ไม่แก่และไม่แข็งจนเกินไป

3. มีพันธุ์ไผ่ สำหรับทำข้าวหลามโดยเฉพาะ

นอกจากข้าวเหนียว กะทิ และถั่วดำแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ และเป็นหัวใจหลักของการทำข้าวหลาม ก็คือ กระบอกไม้ไผ่ ที่เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายเลยว่า ข้าวหลามของคุณ จะมีกลิ่นหอมน่ากินหรือไม่

ด้วยความสำคัญขนาดนี้ ทำให้คนทำข้าวหลาม จำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่สำหรับข้าวหลามโดยเฉพาะ อย่าง “ไผ่ข้าวหลาม” หรือชื่อวิทยาศาสตร์อย่าง BAM-BUSA SPP. อยู่ในวงศ์ GRAMI-NEAE เป็นไม้ในตระกูลหญ้า

ข้อดีคือขนาดแต่ละปล้องจะมีความพอดี เหมาะแก่การนำไปเผาข้าวหลาม รวมไปถึงเยื่อหุ้มที่ไม่ขาดง่าย สามารถห่อหุ้มข้าวไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ที่เป็นไฮไลต์ ก็คือเป็นไผ่ที่ทนไฟ สามารถเผาโดยกระบอกไม่แตก จึงเป็นจุดที่ต่างจากไม้ไผ่พันธุ์อื่น ๆ

4. ชาวบ้านหนองมน ก่อนจะขายข้าวหลาม เคยทำนากันมาก่อน

ถ้าพูดถึงข้าวหลาม ชื่อของตลาดหนองมน ก็ต่อต่อท้ายขึ้นมาอย่างขาดไม่ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนจะมาขายข้าวหลามกันทุกบ้านแบบนี้ ชาวบ้านหนองมน เค้าเคยทำนากันมาก่อน !

ย้อนกลับไปในสมัยก่อน ชาวบ้านบริเวณนี้มีอาชีพทำนาเป็นหลักตามวิถีชีวิตคนไทย ซึ่งเมื่อหมดหน้านา ชาวบ้านก็นำข้าวที่ได้ไปทำข้าวหลามเป็นของหวานเพื่อประหยัดเงิน โดยนำข้าวเหนียว ไปแลกกับน้ำตาลและมะพร้าวจากหมู่บ้านอื่น ส่วนไม้ไผ่ก็ขึ้นไปตัดเองบนเขา

ต่อมาก็พัฒนาเป็นการค้าขายที่งานประจำปีศาลเจ้าหนองมน และเริ่มรุ่งเรืองขึ้นจากการที่มีถนนสายสุขุมวิทตัดกลางตลาด ทำให้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ใครไปใครมาก็ต้องแวะ จนมาถึงปัจจุบัน


เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 4 เรื่องที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับข้าวหลาม ยอมรับเลยว่าเป็นคนชลบุรีแท้ ๆ แต่บางข้อก็ยังแปลกใจเลยด้วยซ้ำ ! ส่วนใครมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้าวหลามอีก ก็เอามาแชร์ทางเพจกันได้น้า รออ่านอยู่จ้า


Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์