RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ศิลปะการแสดง

ดนตรีและเพลงร้อง

เพลงขอทาน


ชื่อเรียกท้องถิ่น
เพลงลำภา

เพลงขอทานมีทำนองเป็นเอกลักษณ์ของตนโดยเฉพาะ สมัยก่อนเวลามีงานวัดจะต้องหาของใช้เข้าครัว บรรดามัคทายกหรือกรรมการวัดจะต้องออกไปเรี่ยไรข้าวสารอาหารแห้งเป็นประจำ จึงต้องมีการร้องขอ ครั้นจะร้องขอธรรมดาก็รู้สึกว่าไม่จูงใจคนทำบุญ จึงแต่งเนื้อเพลงโดยยึดเอานิทานชาดกเป็นหลัก ใส่ทำนอง มีลูกคู่และเพิ่มเครื่องกำกับจังหวะตามถนัด เมื่อได้สิ่งของมาก็เอาเข้าวัด ต่อมามีผู้เลียนแบบและยึดเป็นอาชีพไปเลยก็มี
จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ป้าอรยังเล่าต่อไปอีกว่า ในยุคสมัยต่อมาก็จะออกไปร้องเพลงขอทานในสถานที่สาธารณะนั้นไม่เหมือนในยุคสมัยก่อน ในยุคสมัยก่อนเดินไปตามบ้านใน หมู่บ้านไม่ได้มีความเจริญ คนต่างอยู่ในบ้านของตนที่ไม่ได้ติดกันมากนักแล้วแต่สภาพครอบครัวนั้น ไม่มีไฟก็เดินจุดตะเกียงส่องทางไปเรื่อย ๆ จึงเหมือนการมีมหรสพเคลื่อนที่ไปขับกล่อมตามบ้านเกิดบรรยากาศที่สนุกสนาน แต่ในยุคสมัยต่อมาการออกไปร้องเพลงขอทานจำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางการ และมีใบแสดงว่าคณะขอทานแต่ละคณะเป็นตัวแทนมาจากวัดใด ถ้าไม่มีใบดังกล่าว ก็จะถูกตำรวจจับถือว่าเป็นขอทานผิดกฎหมาย การบริจาคสิ่งของส่วนใหญ่เป็นเงิน เพราะคนในยุคสมัยต่อมาเปลี่ยนแปลงจากอาชีพเกษตรกรรม กลายเป็นอาชีพค้าขาย รับราชการมากขึ้น การไปร้องเพลงขอทานเพื่อขอสิ่งของเข้าวัดจึงไปในสถานที่ๆ มีคนเยอะๆ เช่น ตลาดนัด ชุมชนในเมืองที่มีการค้าขาย บางร้านค้าก็ไม่ให้ร้องเพลงเพียงแต่ให้เป็นตัวเงินมาเลย ดังที่กล่าวมาแล้วคณะเพลงขอทานบ้านทุ่งไก่ดัก ไม่ได้ทำเป็นการประกอบอาชีพหลัก แต่ทำเพื่อต้องการทำบุญเท่านั้น ดังนั้นรายได้ทั้งหมดที่หามาได้จึงไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอะไรเลย แม้แต่ค่าอาหารหรือค่ารถพวกตนในคณะก็จะออกกันเอง อีกส่วนหนึ่งที่พอจะเป็นรายได้หรือได้รับเงินค่าจ้าง มาจากการจ้างของส่วนราชการที่ให้ไปแสดง สาธิต ในงานต่างๆ จึงจะได้ค่าจ้าง ถึงกระนั้นคณะเพลงขอทานของวัดทุ่งไก่ดัก ก็ยังคงทำหน้าที่เพื่อสืบสานประเพณีของไทยมาจนถึงปัจจุบันแล้วแต่ใครหรือวัดไหนจะมาตามให้ไปช่วย ป้าอรกล่าวทิ้งท้ายของการสัมภาษณ์ว่า คณะของตนก็จะทำไปจนกว่าจะทำไม่ไหว หรือไม่มีใครเรียกให้ไปช่วย ถ้ำยังมีแรงและมีผู้คนที่ยังเห็นความสำคัญก็จะสืบสานต่อไป

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

คณะเพลงขอทาน บ้านทุ่งไก่ดัก ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบการแสดง มีแต่รูปแบบการร้อง ใช้จังหวะการปรบมือ และลูกคู่ร้องรับ ซึ่งจะขึ้นด้วยหัวกลอน ผู้นำร้องจะร้องกลอนนำ และลูกคู่จะเป็นผู้ร้องรับซ้ำในแต่ละประโยค พร้อมปรบมือให้จังหวะตาม เมื่อกลอนลงที่ประโยค “ศรัทธาเถิดแม่ใจ เอ๊ย....บุญ” ลูกคู่จะร้องรับซ้ำ จากนั้นผู้ร้องจะด้นกลอนโดยอาศัยไหวพริบ ผสมผสำนคำที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เดินไปในแต่ละที รูปอัตลักษณ์ดนตรีของเพลงขอทานนั้น เกิดจากความเฉพาะเจาะจงของทำนองเพลงที่จดจำสืบทอดกันมา ซึ่งป้าอรผู้ให้สัมภาษณ์ให้ข้อมูลว่า ทำนองเพลงของคณะเพลงขอทานของตนนั้น มีอัตลักษณ์เฉพาะคือ “การเอื้อน” ทำนองต้องมีลีลาการเอื้อน โดยเฉพาะที่สำคัญในช่วงหางเสียง ส่วนใหญ่ที่ตนเองเคยได้ยิน คณะอื่นๆ การเอื้อนหางเสียงจะห้วนกว่าคณะของตนเอง ซึ่งจำเป็นจะต้องจดจำลีลาการเอื้อนให้แม่น เมื่อต่อทำนองร้องนั้น (หมายถึงสอนทำนองการร้อง: ผู้วิจัย) ให้กับบุคคลที่มาขอเรียน ตนเองจะให้ความสำคัญกับการเอื้อนเป็นหลัก เพราะจะทำให้รักษาอัตลักษณ์ทำนองเพลงขอทานของคณะตนเองไว้ได้ ส่วนคำร้องนั้นก็จะใช้การจำเช่นเดียวกับทำนอง แต่บางคนจะมีการจดคำร้องไว้ ส่วนทำนองยังต้องอาศัยการจำ เนื่องจากไม่มีวิธีการบันทึกโน้ตในเรื่องของทำนอง ดังนั้นรูปแบบอัตลักษณ์เพลงขอทานของคณะทุ่งไก่ดัก จังหวัดตราด จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะเจาะจง เป็นแบบฉบับของคณะ ซึ่งทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมเพลงดนตรีที่สำคัญประเภทหนึ่ง ที่ควรบันทึกและอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป

ประเพณีลำภาข้าวสารเกิดตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเจ้าจอมมารดาน้อยระนาด มีพระโอรสคือ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งเป็นต้นสกุลวัชรีวงศ์ มีพระโอรสคือ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์หรือพระองค์ขาว ทรงเสด็จมาที่สามโคกและประทับที่วัดแจ้ง เห็นว่าควรบูรณปฏิสังขรณ์วัด ปีใดที่วัดไม่มีกฐินจะเสด็จมาทอดกฐินและหาการแสดงมาด้วยเช่น โขน ละคร เพราะชาวบ้านชอบดูกันมาก ได้คิดให้เกิดการลำภาข้าวสาร โดยให้ใช้ชื่อเป็นเนื้อเพลงตอนขึ้น เพื่อเป็นการคารวะต่อพระองค์เจ้าขาว ซึ่งท่านให้ปฏิบัติเป็นประจำต่อมาทุกปี จากหลักฐานที่ปรากฏว่าพระองค์เจ้าขาวเป็นผู้ริเริ่มประเพณีลำภาข้าวสาร เพราะบทร้องของเพลงตอนขึ้นต้นมีว่า “เจ้าขาวราวละลอกเอย” ชาวบ้านจึงเรียกติดปากกันว่า “เพลงเจ้าขาว” บ้างก็เรียกว่า “ลำภาข้าวสารพระองค์เจ้าขาว” บ้างเรียกว่า “เพลงขอทาน” ก็มี คณะเพลงขอทานบ้านทุ่งไก่ดัก เป็นคณะเพลงขอทานที่เก่าแก่คณะหนึ่งที่ยังสามารถสืบค้นข้อมูลได้ และยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์ป้าอร ให้ข้อมูลพอสรุปทั้งในด้านประวัติความเป็นมาและรูปแบบวิธีการแสดง ได้ว่า คณะเพลงขอทานบ้านทุ่งไก่ดัก เป็นชาวไทยชอง (เรียกตามผู้ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากหมู่บ้านทุ่งไก่ดัก เป็นชนชาวชองสืบเชื้อสายกันต่อมาหลายรุ่น การที่เรียกชาวไทยชอง อาจเนื่องจากอยู่มานานหลายรุ่น จนในรุ่นต่อๆ มาแต่ละคนต่างมีบัตรประจำตัวประชาชนชาวไทยทุกคน แต่เรียกคำว่าชองต่อจากไทย เพื่อให้ทราบถึงเชื้อสายบรรพบุรุษของตนเอง: ผู้วิจัย) ที่บ้านทุ่งไก่ดัก ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด สืบทอดประเพณีเพลงขอทานต่อๆ กันมาโดยใช้วิธีถ่ายทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ คณะเพลงขอทานบ้านทุ่งไก่ดัก ที่มีป้าอร สุขัง เป็นหัวหน้าคณะ อายุ 79 ปี (เกิดพ.ศ. 2481) เล่าว่า คนในคณะของตนเองส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมด มีนางสวิง วงษ์ทอง (นามสกุลเดิม กุมพระ) นางมาลี สงวนวงษ์ (นามสกุลเดิม กุมพระ) เป็นพี่น้องที่ร่วมกันในคณะ โดยเริ่มต้นมาจากพ่อต่วย กุมพระ และแม่ฉวย กุมพระ เป็นคนสอนเพลงขอทานให้ เพลงขอทำนของคณะบ้านทุ่งไก่ดัก เป็นเพลงขอทานที่ใช้สำหรับร้องในงานบุญช่วงประเพณีสงกรานต์เท่านั้น ไม่ได้ประกอบเป็นอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยป้าอรให้ข้อมูลว่า คณะเพลงขอทานแต่ละคณะจะเป็นตัวแทนของวัดต่างๆ ในชุมชน เดินร้องเพลงขอทานเพื่อรับบริจาคสิ่งของ คณะของตนเองจะเริ่มออกร้องเพลงขอทานในช่วงเดือนเมษายน ช่วงประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย (ก่อนพ.ศ. 2483) ก็จะเริ่มออกเดินช่วงเย็นตั้งแต่เวลาประมาณ 5 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืนของทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 5 วัน จนถึงช่วงที่เป็นประเพณีขนทรายเข้าวัดก็จะเลิกเดินขอทาน เพื่อร้องเพลงขอของใช้ต่างๆ เช่น ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา อาหารแห้งต่างๆ และรวมถึงเงิน (แล้วแต่ผู้ให้จะบริจาค) โดยในสมัยที่ผ่านมาในแต่ละบ้านที่ผ่านไปก็จะร้องเพลงไปตามบ้าน ก็จะมีผู้บริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง ถ้าได้รับเยอะๆ จนถือไม่ไหวก็จะฝากไว้ตามบ้านต่างๆ แล้วจะมีคนมาช่วยขนกลับไปไว้ที่วัด บางบ้านก็จะทำข้าวต้ม ขนมไว้แจกคนที่มาร่วมเดินขอทาน เป็นบรรยากาศงานบุญที่อบอุ่น มีผู้ให้ความสนใจเหมือนมีงานรื่นเริง จึงสามารถออกเดินขอทานไปได้เรื่อยๆ จนถึงเที่ยงคืน เนื่องจากในช่วงนั้นสภาพสังคมยังเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม จึงทำให้แนวโน้มของการบริจาคเป็นของที่มาจากการทำอาชีพเกษตรกร ต่อมายุคสมัยได้เปลี่ยนแปลง อาชีพของคนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง สังคมเมืองเริ่มคืบคลานเข้ามาในสภาพสังคมของคนในชุมชน ข้าวของที่นามาบริจาคจากการทำเกษตรกรรมจึงเปลี่ยนแปลง กลายเป็นจำนวนเงินเสียส่วนใหญ่

การสืบทอดของคณะเพลงขอทานวัดทุ่งไก่ดัก เป็นการสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ใช้วิธีการแบบจดจำโดยการเดินร่วมไปกับคณะและอาศัยจดจำบทเพลงที่ผู้ใหญ่ในคณะร้อง ต่อมาจึงมีการจดเนื้อเพลงลงสมุด (เฉพาะเนื้อร้อง ส่วนทำนองต้องจดจำเอาเอง) แล้วนำมาหัดร้อง โดยป้าสวิง วงษ์ทอง และป้ามาลี สงวนหงษ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “ชั้นก็ตามไปกับคณะ พยายามจำที่เค้าร้อง แต่ชั้นเอาสมุดไปจดด้วย เมื่อเค้าตายไปชั้นก็ยังถือว่าเค้าเป็นครูของชั้น และได้รับมอบมา” โดยในรุ่นแรกๆ ไม่ทราบว่าใครเป็นคนถ่ายทอดเนื้อร้องทำนองให้ ทราบแต่ว่าเป็นทำนองและเนื้อร้องที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งมาในรุ่นพ่อของตนเอง คือ พ่อต่วย กุมพระ และแม่ฉลวย กุมพระ ที่สามารถร้องเพลงขอทานได้ ถือว่าเป็นสมาชิกในวง เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งครอบครัวก็จะออกไปร้องเพลงขอทานเพื่อช่วยเรี่ยไรสิ่งของต่างๆ มาให้วัด ต่อมาพวกของตนเองจึงเป็นรุ่นต่อมาที่รับหน้าที่ร้องเพลงขอทานเพื่อช่วยทำบุญให้วัด การสืบทอดที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีบ้างที่ได้รับเชิญให้ไปสอนตามโรงเรียนแต่ด้วยเวลาที่น้อย และประกอบกับเด็กเรียนจบ ก็ยังไม่สามารถที่จะร้องได้ จึงทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการถ่ายทอด และเพลงขอทานเป็นเพลงที่ใช้เฉพาะช่วงเวลา ซึ่งในหนึ่งปีจะมีการร้องเพียงครั้งเดียวในเทศกาลสงกรานต์ และไม่ได้นำไปร้องประกอบเป็นอาชีพ จึงไม่มีใครตามขอเรียนเนื่องจากไม่สามารถทำรายได้เพิ่ม เหมือนเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น จนกระทั่งในปัจจุบัน ป้าอรก็ยอมรับว่าถ้าหมดไปจากรุ่นของพวกตนเองแล้วนั้น เพลงขอทานของคณะทุ่งไก่ดักก็จะไม่มีใครสืบทอดและอาจสูญหายได้ต่อไปในอนาคต

  • ฟ้ามุ้ย ศรีบัว. 2555. เพลงขอทาน ครูประทีป สุขโสภา. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยนเรศวร, ภาควิชาศิลปะกรรมศาสตร์, สาขาวิชาวิทยาการดนตรีและนาฏศิลป์.
  • ศรีจันทร์ น้อยสอาด. 2544. เพลงร้องพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี กรณีศึกษา: เพลงโนเน เพลง ลำภาข้าวสาร และเพลงระบำพื้นบ้าน. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยมหิดล, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาวิชาดนตรี.
  • สำนักงานจังหวัดตราด. (วันที่ 30 กันยายน 2559). ข้อมูลทั่วไปจังหวัดตราด. สืบค้นจาก www.trat.go.th/
  • นางอร สุขัง (นามสกุลเดิม กุมพระ)
  • นางสวิง วงษ์ทอง (นามสกุลเดิม กุมพระ)
  • นางมาลี สงวนวงษ์ (นามสกุลเดิม กุมพระ)
  • (2560) คณะเพลงขอทาน วัดทุ่งไก่ดัก จังหวัดตราด