RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล

ขนบธรรมเนียมประเพณี

ประเพณีกองข้าว


ชื่อเรียกท้องถิ่น
ประเพณีกองข้าวบวงสรวง



เป็นประเพณีที่จัดขึ้นตามความเชื่อของชาวอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นการทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าป่าเจ้าเขาพระแม่คงคา ให้ปกปักษ์รักษา คุ้มครองคนในชุมชนให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ รวมถึงการทำบุญอุทิศ ส่วนกุศลให้ภูตผีปีศาจ หรือวิญญาณเร่ร่อนเพื่อให้ชีวิตพบแต่ความสงบสุข ประเพณีกองข้าวมีการจัดขึ้นหลายอำเภอในจังหวัดชลบุรี เช่น อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ้านบึง และอำเภอเกาะสีชัง เป็นต้น ซึ่งจะนิยมจัดขึ้นหลังวันสงกรานต์ของทุกปี โดยจะจัดปีละครั้งบริเวณชายหาด
จากสภาพปัจจุบัน ศรีราชาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ จึงทำให้ศรีราชามีสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทศบาลเมืองศรีราชามีขนาดพื้นที่เล็กแต่มีผู้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีน เกาหลี ญี่ปุ่น บางพื้นที่ของศรีราชาเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่น และนอกจากนั้นยังมีผู้ใช้แรงงานจากต่างจังหวัด มาอาศัยอยู่เพื่อประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก ทำให้สภาพชุมชนเปลี่ยนจากชุมชนชาวประมงเป็นชุมชน เมือง อาชีพประมงลดน้อยลงมาทำงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจลดน้อยลง จึงทาให้ความสำคัญของประเพณีกองข้าวลดน้อยลง การประกอบอาชีพเดิมของคนในท้องถิ่น ก็เปลี่ยนไป ตามสภาพของสังคมปัจจุบัน

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

การจัดพิธีกองข้าวในสมัยก่อนจะจัดบริเวณแหลมฟาน แหลมท้าวเทวา และบริเวณริมเขื่อนหน้าบ้านนายอำเภอ ทั้ง 3 แห่ง จะจัดเรียงกันไป เป็นเวลา 3 วัน ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ย้ายมาจัดบริเวณสำนักงานเทศบาลเมืองศรีราชา โดยจัดเป็นงานประเพณีใหญ่ มีการละเล่นพื้นบ้านหลากหลาย แต่ชาวบ้านริมทะเลยังจัดอยู่เหมือนเดิมแล้ว จึงมาร่วมจัดพิธีที่บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองศรีราชาและปัจจุบันประเพณีกองข้าวศรีราชาได้จัดขึ้นบริเวณสวนสุขภาพ (เกาะลอยศรีราชา) ในระหว่างวันที่ 19 – 21 เมษายนของทุกปีในปัจจุบันประเพณีกองข้าวศรีราชา ได้กำหนดให้มีการประกอบพิธีบวงสรวง จัดทำศาลเพียงตาเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง อาหารคาวหวาน ประจำท้องถิ่น คือ ฮือแช่ ก๋วยเตี๋ยวบก งบปิ้ง ขนมเต่า นมกับถั่ว ข้าวสวย และมีบายศรีปากชาม มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทพเทวดาอารักษ์ และภูตผีปีศาจเพื่อมารับเครื่องเซ่นไหว้ โดยจุดธูปคนละ 9 ดอก เซ่นไหว้ร่วมกัน เมื่อเสร็จพิธีก็ทำบายศรีสู่ขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จพิธีเชิญทุกคนร่วมกันรับประทานอาหารและชมการแสดง

ในอดีตชาวชลบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงทางทะเล ก่อนออกเรือจึงต้องมีพิธีเซ่นไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อคุ้มครองภัยธรรมชาติ ประวัติกล่าวว่าประเพณีกองข้าว นิยมจัดขึ้นหลังวันสงกรานต์เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานปรากฏ ในปัจจุบันประเพณีกองข้าวบางพื้นที่ได้เลิกปฏิบัติไปแล้ว เท่าที่ยังมีปรากฏอยู่คืออำเภอศรีราชา

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2556, 1, สํานักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2556, หน้า 118-119