RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ภาษา

ภาษาท้องถิ่น

ภาษาชอง


ภาษาชอง เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ–เขมร กลุ่มย่อยเปียริก ภาษาในสาขาเดียวกัน ที่มีความใกล้เคียง ได้แก่ ภาษากะซอง และภาษาซำเรที่พบในจังหวัดตราด และภาษาซะอุ้ง ที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี ภาษาชองมีระบบเสียงที่แสดงลักษณะของภาษากลุ่มมอญ-เขมรที่ชัดเจน
ปัจจุบันการใช้ภาษาชอง ตลอดจนวัฒนธรรมของชาวชองอยู่ในภาวะถดถอยเป็นอย่างมาก คนชองส่วนมากใช้ ภาษาไทยในการสื่อสารในชีวิตประจำวันแม้แต่ผู้สูงอายุ เยาวชนชาวชองรุ่นอายุต่ำกว่า 30 ปี ไม่สามารถพูดภาษาชองได้ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง ภาษาชองจึงจัดเป็นภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตขั้นรุนแรงใกล้สูญ ซึ่งมีผลต่อการสูญเสียภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่สะท้อนผ่านคำศัพท์ในภาษาชอง เช่น เรื่องเกี่ยวกับป่า พันธุ์พืช อาหารพื้นบ้าน สมุนไพร พิธีกรรม ความเชื่อและประเพณี เช่น พิธีแต่งงาน “กาตัก” ของชาวชอง และการละเล่นพื้นบ้าน เช่น “ซะบา” เป็นต้น

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

ภาษาชอง เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ–เขมร กลุ่มย่อยเปียริก ภาษาในสาขาเดียวกัน ที่มีความใกล้เคียง ได้แก่ ภาษากะซอง และภาษาซำเรที่พบในจังหวัดตราด และภาษาซะอุ้ง ที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี ภาษาชองมีระบบเสียงที่แสดงลักษณะของภาษากลุ่มมอญ-เขมรที่ชัดเจน โดยมีพยัญชนะต้น (22 ตัว) พยัญชนะสะกด (11 ตัว) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ตัวสะกด จ ญ และ ฮ เป็นต้น และมีลักษณะน้ำเสียงที่โดดเด่น แทนการมีเสียงวรรณยุกต์ดังในภาษาไทย ภาษาชองไม่มีวรรณยุกต์แต่มีลักษณะน้ำเสียง 4 ลักษณะ ได้แก่
1) ลักษณะน้ำเสียงกลางปกติ เช่น กะวาญ = กระวาน, กะปาว = ควาย
2) ลักษณะน้ำเสียงต่ำใหญ่ (เสียงก้องมีลม) เช่น กะว่าย = เสือ, มะง่าม = ผึ้ง
3) ลักษณะน้ำเสียงสูงบีบ (เสียงปกติตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น ค้อน = หนู, ซู้จ = มด
4) ลักษณะน้ำเสียงต่ำกระตุก (เสียงก้องมีลมตามด้วยการกักของเส้นเสียง) เช่น ช์อง = ชอง, เม์ว = ปลา ไวยากรณ์ภาษาชองโดยทั่วไปมีลักษณะเรียงคำแบบประธาน – กริยา – กรรม เช่นเดียวกับภาษากลุ่มมอญ-เขมรอื่น ๆ เช่น ประโยคว่า อูญ ฮอบ ปล็อง ม่อง เมว์<พ่อ-กิน-ข้าว-กับ-ปลา> = พ่อกินข้าวกับปลา ลักษณะไวยากรณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือการใช้คำปฏิเสธ 2 คำ ประกบหน้า และหลังคำกริยาหรือกริยาวลี เช่น ย่าย ม่อง ตา พาย นั่ก อิฮ อีน กะปิฮ ฮอบ ปล็อง อิฮ <ยาย-กับ-ตา-สอง- คน-ไม่-มี-อะไร-กิน-ข้าว-ไม่> = สองคนตายายไม่มีอะไรจะกิน เป็นต้น

คำว่า “ชอง” แปลว่า “คน” ชาวชองเป็นกลุ่ม คนดั้งเดิมในดินแดนเอเชียอาคเนย์สมัยอาณาจักรเขมร เป็นกลุ่มชน ที่มีชื่อเสียงในการทำกระวาน และเครื่องเทศต่าง ๆ ชาวชองและกลุ่มชนใกล้เคียง กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะบริเวณที่ต่อเนื่องกับประเทศกัมพูชา ในบางพื้นที่จะเรียกคนชองว่า “ชึ่มชอง” ปัจจุบันพบชาวชองอาศัยอยู่หนาแน่น ในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรีตำบลตะเคียนทอง และตำบลคลองพลู ส่วนในเขตตำบลพลวง และในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อนยังมีประชากรที่พูดภาษาชอง ได้เพียงไม่กี่คน ชาวชองส่วนมากประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ และยางพารา มีการทำนาเพื่อกินในครอบครัว ส่วนการทำกระวานมีเฉพาะในเขตเขาสอยดาว

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2555, 1, สํานักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2555, หน้า 152-153.