RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ศิลปะการแสดง

นาฎศิลป์และการละคร

หนังตะลุง


คณะรักษ์ตะลุง จังหวัดตราด มีนายเฟื้อง ใจเที่ยงเป็นหัวหน้าคณะ ก่อตั้งคณะครั้งแรกโดยครูฉอ้อนและครูโสน นุชสมบัติ โดยนายเฟื้องเป็นลูกศิษย์รุ่นที่ 2 และยังไม่มีผู้สืบทอด ลักษณะการแสดง การเชิดหนังคล้ายการเชิดหนังใหญ่ ใช้ภาษาภาคกลางในการร้องและภาษาถิ่นตราดในการพากย์ ใช้วรรณกรรมจากรามเกียรติ์และนิทานพื้นบ้านเป็นหลัก โดยหนังตะลุงนี้ให้ความบันเทิงกับชุมชนในเทศกาลประเพณีบุญต่างๆ รวมทั้งในพิธีกรรม เช่น งานแก้บน เป็นต้น รูปแบบอัตลักษณ์ของงานดนตรี การประสมวงใช้เครื่องดนตรีเพียง 5 ชิ้น ได้แก่ โทน กลองตุ๊ก ฉิ่ง ขลุ่ย ซอด้วง บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง ส่วนใหญ่ใช้วิธีการด้น โดยนำทำนองจากเพลงไทยเดิมและเพลงพื้นบ้าน มาผสมผสานทำนองเพลง เพื่อให้บทเพลงมีเนื้อหาและความยาวพอดีกับบทร้องและบทพากย์ ในด้านจังหวะมีรูปแบบจังหวะดังนี้ ช่วงโหมโรงจะใช้รูปแบบจังหวะ 9 รูปแบบ ช่วงบทไหว้ครู 1 รูปแบบ และเข้าสู่ช่วงประกอบการแสดงจะใช้รูปแบบจังหวะ 3 รูปแบบ สลับกันไปในการดำเนินเรื่อง
จากการลงสำรวจภาคสนามยังพบเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ดำเนินชีวิตเรียบง่าย สังคมคนเมืองยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตมากนัก ร้านค้าสะดวกซื้อ เช่น โลตัส (Lotus) และเซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) พบเห็นได้น้อย ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในตัวเมือง แต่เมื่อออกไปตามชุมชนจะพบเห็นร้านค้าเบ็ดเตล็ดหรือร้านโชห่วย (ในภาษาจีนฮกเกี้ยน เป็นคาเรียกติดปากของคนโดยทั่วไป) มีอยู่ในชุมชนต่างๆ ของหมู่บ้านโดยทั่วไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบคนชนบท กล่าวคือ มีความสัมพันธ์กันในชุมชนค่อนข้างแน่นแฟ้น เมื่อสอบถามถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งยังสามารถที่จะทราบข้อมูล ลำดับญาติ (ส่วนใหญ่จะจำได้เฉพาะชื่อ หรือนามเรียกขานแบบชาวบ้าน) และความเป็นอยู่ได้ โดยมีกิจกรรมชุมชนเป็นเครื่องมือในการประสานรวมกลุ่มชาวบ้าน ที่สำคัญคือ วิทยาลัยชุมชนตราด ที่เข้าไปจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้าน เช่น การสอนทำน้ำพริก และทำข้าวเกรียบ เป็นต้น หรือการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เช่น การสอนรำละครชาตรี สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้วิถีชุมชนของชาวตราดยังคงเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

(1) ภาษา วรรณกรรม บทร้องและบทพูด คณะรักษ์ตะลุงใช้ภาษาภาคกลางในบทร้องทั้งหมด โดยจะร้องตามบทร้อยกรอง แต่มีการใส่ทำนองที่คิดขึ้นเองเพื่อให้ลงกับสัมผัสของกลอน ส่วนภาษาพื้นถิ่นตราดใช้ในการพากย์ดำเนินเรื่องราว ซึ่งจะทำให้ผู้ชมในชุมชนมีความเข้าใจและเกิดอรรถรสในการชม วรรณกรรมส่วนใหญ่จะมาจากวรรณกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นหลัก นอกจากนั้นยังนำนิทานพื้นบ้านต่างๆ มาใช้เป็นเรื่องในการแสดง เช่น เรื่อง “ไก่ฟ้า” เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการแต่งขึ้นเองบ้างประมาณ 2-3 เรื่อง ซึ่งบทร้องจะนำมาจากวรรณกรรมนั้นๆ เป็นหลัก วิธีการคือ นำบทร้อยกรองของวรรณกรรมที่เลือกไว้สำหรับแสดง มาใส่ทำนองที่เรียบเรียงขึ้นเอง (ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเอื้อนท้ายคำ) โดยเน้นให้เข้ากับสัมผัสคล้องจองของกลอน ส่วนบทพูดหรือบทเจรจาก็ใช้โครงเรื่องจากวรรณกรรมเช่นกัน แต่จะมีการด้นสดเพิ่มเพื่อให้เข้ากับงานที่ถูกว่าจ้างให้ไปแสดง ดังนั้นส่วนนี้จะทำให้การแสดงสามารถขยายหรือลดให้มีระยะเวลาเท่าใดก็ได้ ถ้าผู้ว่าจ้างให้แสดงไม่กำหนดระยะเวลา ก็จะมีการเพิ่มบทพูดเข้าไปในแต่ละฉาก โดยใช้ปฏิภาณไหวพริบของนายหนัง (ทั้งร้อง พูด และเชิดหนัง: ผู้วิจัย) ด้นโดยเพิ่มเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงาน หรือเหตุการณ์ที่เป็นข่าวทั้งการเมือง สังคม และสภาพสังคมในช่วงนั้น จนกระทั่งใกล้เวลาที่จะต้องลาโรง (ปิดการแสดง) นายหนังก็จะตัดบทพูด และดำเนินเรื่องไปถึงช่วงจบ
(2) วิธีการเชิดหนัง การเชิดหนังของคณะรักษ์ตะลุง จะไม่เชิดเหมือนหนังตะลุงทางภาคใต้ จากการอธิบายของลุงเฟื้อง คณะรักษ์ตะลุงจะเชิดหนังลักษณะเหมือนการเชิดหนังใหญ่ เพียงแต่ว่าตัวหนังเป็นแบบหนังตะลุง ผู้เชิดหนังนั่งขัดสมาธิอยู่หลังจอ มีต้นกล้วยไว้สำหรับปักหนัง ตัวนายหนังมีการโยกย้ายอากัปกริยาไปตามตัวหนัง แต่ไม่มีการลุกขึ้นเต้นออกท่าทางการเต้นโขนเหมือนหนังใหญ่ จะใช้เพียงท่อนบนของร่างกายขยับเขยื้อนไปตามจังหวะ และใช้มือ แขน สะบัดตัวหนังให้เข้ากับอากัปกริยาที่บทพากย์จากตัวนายหนังเองพาดำเนินไป คณะรักษ์ตะลุงมีการประสมวง โดยใช้เครื่องดนตรีในการประสมวง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องดำเนินทำนอง ได้แก่ ขลุ่ย ซอด้วง และกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะได้แก่ โทน กลองตุ๊ก ฉิ่ง นักดนตรีในวงจะมีประมาณ 4-5 คน โดย 3 คนแรกบรรเลงโทน กลองตุ๊ก ฉิ่ง ส่วน 1-2 คน บรรเลงเครื่องดนตรีทำนอง ขลุ่ย ซอด้วง (ตามแต่จำนวนนักดนตรีที่จะมารับงานในครั้งนั้นๆ) การดำเนินทำนองใช้เครื่องดนตรีขลุ่ยและซอด้วง จากการวิเคราะห์ทำนองเพลงทั้งหมดเป็นการด้นสด โดยใช้ทำนองเพลงไทยเดิมแต่ไม่ได้บรรเลงจนจบบทเพลง เป็นการใช้ทำนองเพลงหลายๆ บทเพลงมาบรรเลงผสมกัน เพียงแต่บรรเลงให้หมดมือ (รูปแบบจังหวะหน้าทับ) บางช่วงก็บรรเลงวนกลับไปมา บางช่วงผสมทำนองหลายบทเพลง โดยเฉพาะเมื่อผู้ร้องดำเนินกลอนยาวๆ (พบมากในช่วงดำเนินเรื่อง) รูปแบบจังหวะหน้าทับ (มือ) ใช้โทนเป็นหลัก และฉิ่งเป็นตัวกำหนดจังหวะ ส่วนกลองตุ๊กทำหน้าที่ล้อ-ขัดจังหวะ เพื่อให้จังหวะมีสีสันลูกเล่นที่น่าฟัง โดยเครื่องดนตรีทั้ง 3 ชนิด ทำหน้าที่กำกับจังหวะเพื่อเป็นหลักให้ผู้ร้องและผู้บรรเลงเครื่องดนตรีดำเนินทำนอง โดยใช้รูปแบบจังหวะหน้าทับต่างๆ บรรเลงเรียงต่อกันไปตามแต่ผู้ร้องจะขับกลอนยาวเพียงใดในแต่ละฉาก รูปแบบจังหวะหน้าทับทั้งหมดแบ่งเป็นช่วงโหมโรง 9 รูปแบบ และช่วงดำเนินเรื่อง 3 รูปแบบ ช่วงโหมโรง 9 รูปแบบ คือ เริ่มจากมือที่ 1 ไปจนถึงมือที่ 8 ส่วนมือที่ 9 จะเป็นมือจบโดยบรรเลงซ้า 3 เที่ยว และเข้ารูปแบบจังหวะหน้าทับเพื่อการไหว้ครูต่อไป

หนังตะลุงที่เข้ามาในจังหวัดตราด เริ่มจากครูทแก้ว (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นคนพัทลุง เข้ามาอาศัยอยู่ในวัดไผ่ล้อม ช่วงประมาณปีพ.ศ. 2487-2489 ตอนนั้นครูทแก้ว อายุประมาณ 17-18 ปี ในช่วงที่เข้ามาครูทแก้วไม่ได้มีวงหนังตะลุงเป็นของตนเอง แต่เริ่มชักชวนคนให้มาเล่นหนังตะลุง โดยเริ่มทำตัวหนังขึ้นที่วัดไผ่ล้อม คนในสมัยนั้นจึงเริ่มรู้จักและมีการฝึกหัดหนังตะลุงกันมากขึ้น โดยวิธีการแสดงของครูทแก้วเป็นการแสดงหนังตะลุงแบบพัทลุง คือ เน้นที่บทพากย์ ส่วนตัวหนังจะมีการขยับเขยื้อนน้อย ซึ่งทำให้คนในพื้นที่ฟังบทพากย์ที่เป็นภาษาใต้ไม่ออก ส่วนคณะหนังตะลุงที่เป็นคณะเริ่มแรกในยุคนั้นได้แก่ คณะพ่อสรวง อยู่วัง ได้เริ่มก่อตั้งคณะขึ้น และต่อมาจึงมีการก่อตั้งคณะหนังตะลุงเพิ่มขึ้นตามมาอีกหลายคณะ โดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่นให้เหมาะสมกับผู้ชมในชุมชน ทั้งบทพากย์ก็เปลี่ยนเป็นภาษาพื้นถิ่นตราด ส่วนวิธีการเชิดหนัง จะมีการเคลื่อนไหวคล้ายการเชิดหนังใหญ่ คณะรักษ์ตะลุง ก่อตั้งขึ้นในช่วงยุคสมัยที่หนังตะลุงแบบตราดมีผู้นิยมรับชมกันเพิ่มมากขึ้น มีนายฉอ้อน นุชสมบัติ (พี่ชาย) และนายโสน นุชสมบัติ (น้องชาย) เป็นผู้ร่วมกันก่อตั้ง ซึ่งครูฉอ้อนและครูโสน (เรียกตามลุงเฟื้อง: ผู้วิจัย) เป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่เริ่มก่อตั้งคณะหนังตะลุงในยุคที่ครูทแก้วได้นำวัฒนธรรมหนังตะลุงเข้ามาเผยแพร่ โดยตัวหนังตะลุงนั้น มีช่างเสนาะเป็นผู้วาดหนัง ส่วนการปรุหนังตะลุงนั้น ครูฉอ้อนและครูโสนช่วยกันปรุหนัง ตัวหนังบางตัวยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนี้ โดยมอบให้ลุงเฟื้องไว้ทั้งหมดและยังถูกนำมาใช้แสดงอย่างต่อเนื่อง

การสืบทอดของคณะรักษ์ตะลุง เริ่มจากครูฉอ้อนและครูโสน ได้รับศิษย์รุ่นแรกจานวน 4 คน (ไม่ทราบชื่อทั้งหมด) โดยหนึ่งในสี่ คือ ครูเฟื้อง ใจเที่ยง และต่อมามีนาย คณิตโสภณ (เสียชีวิตแล้ว) ที่ได้เข้ามาร่วมคณะด้วยในภายหลัง ครูเฟื้องได้สืบทอดการแสดงหนังตะลุงของคณะรักษ์ตะลุง โดยได้รับมอบวิชาการแสดงหนังตะลุงอย่างถูกต้องตามพิธีการจากครูฉอ้อนและครูโสน รวมทั้งตัวหนังและเครื่องดนตรีทั้งหมด ตลอดระยะเวลาการเป็นนายหนังตะลุงของครูเฟื้อง นานกว่า 60 ปี ได้มีคนจำนวนมากมาขอเรียนวิชาการแสดงหนังตะลุง แต่ไม่มีผู้ใดได้เรียนอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะมาเรียนไม่นานจนสามารถได้วิชาความรู้ไปได้ทั้งหมด จากคำสัมภาษณ์ครูเฟื้อง ใจเที่ยง (2560) ได้เล่าให้ฟังว่า “มีคนมาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมาย แต่ไม่ได้มีใครเรียนอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่มาเรียนไม่นานก็จะหายไป จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้มอบวิชาการแสดงหนังตะลุงให้ใคร” จากคำให้สัมภาษณ์ของครูเฟื้อง แสดงให้เห็นว่าสายการสืบทอดวิชาด้านหนังตะลุงของคณะรักษ์ตะลุง ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งคณะคือครูฉอ้อนและครูโสน และสืบทอดต่อมาจนถึงลุงเฟื้อง โดยมีการสืบทอดต่อมาเพียง 2 รุ่น ซึ่งในรุ่นต่อมายังไม่มีผู้มารับสืบทอดองค์ความรู้ของคณะรักษ์ตะลุง

  • กฤษกร วงศ์กรวุฒิ. เที่ยวทั่วไทยไปกับ นายรอบรู้ จ.ตราด. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: สารคดี, 2551.
  • คิด ทองได้คล้าย. “ศึกษาเปรียบเทียบหนังตะลุงทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกกับภาคใต้ฝั่งตะวันตก.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาไทยคดีศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2544.
  • พงศธร สุธรรม. “วิเคราะห์ดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุงคณะ ส.ศิษย์กระบกขึ้นผึ้ง จังหวัดระยอง.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาดุริยางค์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.
  • ภรดี มหาขันธ์. การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของภาคตะวันออกยุคต้น. นนทบุรี: ห้างหุ้นส่วนจากัด องศาสบายดี, 2554.
  • วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ผู้นาทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์, 2556.
  • สำนักงานจังหวัดตราด. “ข้อมูลทั่วไปจังหวัดตราด.” www.trat.go.th (สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559)
  • เฟื้อง ใจเที่ยง (ผู้ให้สัมภาษณ์). รณชัย รัตนเศรษฐ (ผู้สัมภาษณ์). ที่งานแสดงแก้บน บ้านบางกระดาน อ.บางกระดาน จังหวัดตราด. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560.