RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ภาษา

ภาษาท้องถิ่น

ภาษากะซอง



ผู้พูดภาษาในปัจจุบันเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังใช้ภาษากะซองสื่อสารได้ มีที่รู้ภาษาดีไม่เกิน 10 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้สูงอายุ และจำนวนลดลงเรื่อยๆ คนกะซองในวัยกลางคนจนถึงรุ่นเยาว์สื่อสารกันด้วยภาษาไทย แม้จะมีความเข้าใจในภาษาของตนอยู่บ้างแต่ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยคยาวๆ ได้ ลูกหลานไม่สนใจที่จะเรียนรู้ภาษาของตน จากพ่อแม่ ภาษากะซองในปัจจุบันนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤตร้ายแรง รวมถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่กำลังสูญหายไปตาม กาลเวลาพร้อมกับคำศัพท์ในภาษา โดยเฉพาะที่เป็นความรู้เกี่ยวกับป่า พรรณพืช สมุนไพร อาหาร พิธีกรรมและความเชื่อที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตและประวัติของชุมชน

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

ภาษากะซองมีพยัญชนะต้น 21 หน่วยเสียง สระเดี่ยว 17 หน่วยเสียง สระประสมหน่วยเสียงเดียวคือ <อัว> และพยัญชนะท้าย 12 หน่วยเสียง โดยเฉพาะเสียงตัวสะกด <จ> <ญ> <ล> และ <ฮ> แสดงลักษณะของ ภาษากลุ่มมอญ-เขมร ภาษากะซองในปัจจุบันจัดว่ามีลักษณะนำ เสียงแบบผสมผสาน นั่นคือใช้ลักษณะน้ำเสียงและระดับเสียงด้วยกันในการแยกความต่างของคำ นี้แตกต่างจากระบบเสียงภาษาชองและซัมเร ลักษณะน้ำเสียงแบบผสมผสานในภาษากะซองมี 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะน้ำเสียงปกติระดับเสียงกลาง (เช่น ปาง = ดอกไม้) ลักษณะน้ำเสียงปกติระดับเสียงกึ่งสูง-สูง-ตก (เช่น ช้อ = หมา) ลักษณะน้ำเสียงพ่นลมระดับเสียงกลาง-กึ่งสูง-ตก (เช่น จฺ้อ = เปรี้ยว) และลักษณะน้ำเสียงพ่นลมระดับเสียงกึ่งต่ำ (เช่น ป่าง = พรุ่งนี้) ทั้งนี้ภาษากะซองกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาษามีวรรณยุกต์จากอิทธิพลภาษาไทย ด้านการใช้ศัพท์ มีศัพท์เฉพาะ เช่น ระแนง = ปาก, ครัน = น่อง, คัด = กัด, ตัก = ใหญ่, มาล = ไร่ เป็นต้น การเพิ่มหน่วยคำเติมซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มมอญ-เขมรยังพบในคำภาษากะซอง ตัวอย่างคู่คำที่เพิ่มหน่วยเติมหน้า เช่น คึน = ตัวเมีย กับ สำคึน = ผู้หญิง, ฮ้อบ = กิน(ข้าว) กับ นะฮ้อบ = ของกิน(อาหาร) เป็นต้น ทว่าลักษณะการสร้างคำเช่นนี้กำลังจะสูญหายไปพร้อมกับการเลิกใช้คำ การเรียงคำในประโยคมีลักษณะแบบ ประธาน-กริยา-กรรม (SVO) เช่น ฮ้อบ กลง ฮือ นาน <กิน-ข้าว-หรือ-ยัง> = กินข้าวหรือยัง อัยปี่ ท่อ จาม แปจ <ใคร-ทำ-ชาม-แตก> = ใครทำชามแตก อาวัน ทู่ นัฮ <วันนี้-ร้อน-มาก> = วันนี้ร้อนมาก เป็นต้น

คำว่า กะซอง เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกภาษาของตัวเองและเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา สันนิษฐานว่า มีความหมายว่า “คน” ภาษากะซองเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเดียวกันกับ ภาษาชองที่จังหวัดจันทบุรีและภาษาซัมเร ที่จังหวัดตราด ผู้พูดกะซองมีถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เขตชายแดนติดต่อกับกัมพูชา ภาษานี้เดิมเป็นที่รู้จักของคนภายนอกว่า “ชองจังหวัดตราด (Chong of Trat)” ด้วยมีความคล้ายคลึงของชื่อและความใกล้เคียงของภาษา ทำให้เข้าใจว่าเป็นภาษาเดียวกัน ชาวกะซองเองบางคนก็เรียกตัวเองว่า คนชอง พูดชอง ด้วยเหมือนกัน

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2557, 1, สํานักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2557, หน้า 254-256.