RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

มหรสพเงาที่เป็นมากกว่าการแสดง เบื้องหลัง “คณะรักษ์ตะลุง” จ.ตราด

คุณกำลังอ่าน
มหรสพเงาที่เป็นมากกว่าการแสดง เบื้องหลัง “คณะรักษ์ตะลุง” จ.ตราด

เผยแพร่ : 10/10/2565

จำนวนผู้เข้าชม : 688

ถ้าการดูหนังคือ กิจกรรมยามว่างที่คุณขาดไม่ได้
“หนังตะลุง” ก็ไม่ต่างอะไรจากเน็ตฟลิกซ์ในสมัยก่อน

มหรสพที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการควบคุมท่าทางตัวละครให้ขยับแขนขาไปตามบทบาท พร้อมทั้งพากย์เสียงให้ตรงตามคาแรกเตอร์นั้นๆ ผ่านฉากกั้นสีขาวที่ทำให้ทุกคนอินได้แม้เห็นเพียงแค่เงา ทั้งหมดนั่นคือ “หนังตะลุง” ที่หลายคนรู้จัก

แต่แน่ใจเหรอว่ารู้จักมันดีพอ?
ตามไปทำความรู้จักหนังตะลุงกันให้มากขึ้นจาก “รักษ์ตะลุง” คณะหนังตะลุง จ.ตราด
กลุ่มคนที่มองว่าหนังตะลุงไม่ใช่การแสดง แต่เป็นวิถีชีวิตและลมหายใจของพวกเขา

หนังตะลุง แห่งภาคตะวันออก

หนังตะลุง เป็นศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นภาคใต้ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าภาคอื่นๆ ก็มีคณะหนังตะลุงซ่อนตัวอยู่ สาเหตุเป็นเพราะการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนที่นำเอาวัฒนธรรมไปเผยแพร่ตามสถานที่ต่างๆ จังหวัดตราดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา รวมถึงติดกับอ่าวไทย ทำให้กลายเป็นเมืองค้าขาย และมีการเคลื่อนย้ายของชุมชนเป็นระยะๆ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหลากหลายด้าน

หนังตะลุงเอง ก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมภาคใต้ที่ชาวตราดได้รับการถ่ายทอดมา โดยนำมาปรับบทพากย์จากภาษาใต้ให้เป็นภาษาถิ่นแบบตราดเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

จุดเริ่มต้น คณะรักษ์ตะลุง

ใครจะเชื่อว่าเบื้องหลังท่าทางแข็งขันและเสียงพากย์ที่ครึกครื้นของคณะรักษ์ตะลุงจะมาจากน้ำพักน้ำแรงของหัวหน้าคณะวัย 81 ปีอย่าง “ลุงเฟื้อง ใจเที่ยง”

ลุงเฟื้องเล่าให้เราฟังว่า คณะรักษ์ตะลุงก่อตั้งขึ้นโดย “ครูฉอ้อน” และ “ครูโสน” ในช่วงที่หนังตะลุงสไตล์ตราดได้รับความนิยม

ภาษาที่ใช้ในการเชิดหนังตะลุงของคณะรักษ์ตะลุงนั้นใช้ภาษาตราด (ภาษาท้องถิ่น) ในการพากษ์ ส่วนบทร้องใช้ภาษาภาคกลาง ส่วนวรรณกรรมที่เลือกใช้ส่วนมากจะมาจากเรื่องรามเกียรติ์ สลับกับนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องไก่ฟ้า ฯลฯ

นอกจากนำวรรณกรรมระดับตำนานมาแสดงแล้ว คณะรักษ์ตะลุงยังมีการผสมผสานเอกลักษณ์ของตนเอง โดยการด้นสดในส่วนของบทพูดและบทเจรจาบางตอน ด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง มุกตลกขำขัน รวมไปถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับงานที่แสดง ถือเป็นการช่วยเพิ่มสีสันให้ครบรสมากยิ่งขึ้น

ลักษณะการเชิดหนังของคณะรักษ์ตะลุงจะแตกต่างกับทางภาคใต้ โดยจะใช้ลักษณะการเชิดแบบหนังใหญ่ ที่ออกท่าทางท่อนบนไปตามจังหวะแต่ไม่มีการลุกขึ้นเต้นโขนแบบทั้งตัว

คณะรักษ์ตะลุงนั้นจะได้วาดลวดลายโชว์ฝีมือก็ต่อเมื่อถูกว่าจ้างไปทำการแสดงในทั้งงานมงคลอย่าง งานตราดรำลึก งานวันสงกรานต์ ไปจนถึงงานแก้บนตามความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้นระหว่างคณะฯ กับชุมชน

ความทุ่มเทที่ไร้ผู้สานต่อ

ถึงแม้ว่าลุงเฟื้องจะทุ่มเทชีวิตให้กับหนังตะลุงแค่ไหน แต่ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีในการสวมบทเป็นนายหนังกลับไม่มีลูกศิษย์ที่สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้นี้ต่อไปได้เลย

“มีคนมาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมาย แต่ไม่ได้มีใครเรียนอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่มาเรียนไม่นานก็หายไป จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้มอบวิชาการแสดงหนังตะลุงให้ใคร”


คำบอกเล่าของลุงเฟื้อง ทำให้เรากังวลใจเหลือเกินว่าในอนาคตข้างหน้า เด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักคำว่า “หนังตะลุงตราด” แล้วก็เป็นได้


แหล่งที่มา
รณชัย รัตนเศรษฐ. 2559. วัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิตในท้องถิ่นภาคตะวันออก
 : กรณีศึกษาหนังตะลุงคณะรักษ์ตะลุง จังหวัดตราด. มหาวิทยาลัยบูรพา, คณะดนตรีและการแสดง, สาขาวิชาดนตรี.

Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์