RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

เบื้องหลัง “คาเฟอีน” ในแก้วกาแฟ ! รสชาติของการโตเป็นผู้ใหญ่ที่คนวัยทำงานเสพติด

คุณกำลังอ่าน
เบื้องหลัง “คาเฟอีน” ในแก้วกาแฟ ! รสชาติของการโตเป็นผู้ใหญ่ที่คนวัยทำงานเสพติด

เผยแพร่ : 17/11/2566

จำนวนผู้เข้าชม : 644

สิ่งเดียวที่จะช่วยต่อกรกับหนังตาหนัก ๆ ในเช้าวันจันทร์ และกองงานสูงเฉียดฟ้าของชาวออฟฟิศได้ ก็คือ “กาแฟ” เครื่องดื่มรสขมปร่าที่กระตุ้นร่างกายอันอ่อนล้าให้กลับมาสดชื่นอีกครั้ง

แต่เบื้องหลังที่ทำให้หลายคนยอมถวายหัวเป็นทาสรักของกาแฟนั้น มันมาจากสารประกอบหลักของเครื่องดื่มชนิดนี้อย่าง “คาเฟอีน” ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่ามีเรี่ยวแรงทุกครั้งที่ได้ดื่มมันเข้าร่างกาย

วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักสารชนิดนี้ให้มากขึ้น ถ้าพร้อมแล้ว ก็หยิบกาแฟแก้วโปรด แล้วจิบไป อ่านไปกันเลย !


ทำไมดื่มคาเฟอีนแล้วสดชื่น ?

คาเฟอีนที่เราคุ้นเคยกันนั้น ไม่ได้อยู่ในเฉพาะเมล็ดกาแฟอย่างเดียว แต่ในใบชา โกโก้ และแม้แต่โคล่าเองก็มีสารชนิดนี้อยู่ด้วย โดยคาเฟอีนเป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์ในการขัดขวางสาร “อะดีโนซีน” ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกง่วงนั่นเอง เท่านั้นยังไม่พอ มันยังช่วยในการกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ทำให้ร่างกายมีความสุข และรู้สึกประปรี้กระเปร่ามากขึ้น เราจึงรู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอด นอกจากนี้ คาเฟอีน ยังมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน ซึ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้น ร่วมถึงอาจเกิดอาการใจสั่น กระวนกระวายใจร่วมด้วย

ติดคาเฟอีน อาการแบบนี้ต้องรีบแก้ !

แน่นอนว่าคาเฟอีนไม่ได้มีแต่ข้อดีอย่างเดียว เพราะอะไรที่มากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายเราได้ เช่นเดียวกัน

โดยใครที่ดื่มคาเฟอีนแล้ว เริ่มรู้สึกว่าปริมาณที่เคยดื่มต่อวัน มันไม่เพียงพออีกต่อไป จนทำให้ต้องดื่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะแบบนี้เรียกว่า “ภาวะดื้อคาเฟอีน” รวมถึงคนที่มีอาการผิดปกติ รู้สึกปวดหัว และง่วงนอนมากกว่าปกติ หากไม่ได้ดื่มคาเฟอีน ก็นับว่าเป็นหนึ่งในอาการ “ภาวะถอนคาเฟอีน” ที่เราต้องรีบแก้ไข

วิธีการก็ไม่ยาก เพียงแต่ต้องอาศัยความค่อยเป็นค่อยไป โดยการค่อย ๆ ลดปริมาณที่ดื่มต่อวันลง จากวันละ 3-4 แก้ว เหลือวันละ 2 แก้ว และ 1 แก้วต่อวันในที่สุด ให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัว จนสามารถหยุดดื่มในวันใดวันหนึ่งได้โดยไม่มีอาการข้างเคียง แต่สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือการหยุดดื่มในทันที เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจนรับไม่ไหว


เป็นอย่างไรกันบ้าง กับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับคาเฟอีนที่เราหยิบมาฝาก ขอบอกเลยว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคลังความรู้จาก RSPG เท่านั้นนะ ! ใครที่อยากรู้เรื่องอะไรใหม่ ๆ ก็กดติดตามไว้ได้จ้า~


Writer & Photographer

ปองกานต์ สูตรอนันต์