RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

หอยทากชราเล่าเรื่อง : เรื่องของสังข์ที่คนไม่รู้ ตอนที่ 3

คุณกำลังอ่าน
หอยทากชราเล่าเรื่อง : เรื่องของสังข์ที่คนไม่รู้ ตอนที่ 3

เผยแพร่ : 18/7/2565

จำนวนผู้เข้าชม : 454

สังข์ในตำนานคชศาสตร์ เทพเจ้าแห่งช้าง

อีกตำนานหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากทางคชศาสตร์ โดยเกี่ยวพันกับเทพเจ้าแห่งช้างที่สำคัญสององค์ คือ “พระพิฆเนศ” และ “พระโกญจนาเนศวร” สำหรับพระพิฆเนศนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักดี แล้วขออนุญาตไม่เล่าในที่นี้ขอรับ ถ้าอยากทราบประวัติของท่าน สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ“อมนุษยนิยาย” ของ ส. พลายน้อย ได้ขอรับ แต่เทพอีกองค์คือ พระโกญจนาเนศวร นั้นมีพระนามปรากฏอยู่เฉพาะในตำราคชลักษณ์

ตามตำนานกล่าวว่า ในไตรดายุค พระนารายณ์ทรงกระทำเทวฤทธิ์ให้เกิดดอกบัวผุดขึ้นจากอุทร ดอกบัวดอกนั้นมีแปดกลีบ มีเกสร 172 เกสร แล้วนำไปถวายพระอิศวร ซึ่งองค์เทวะเจ้าได้แบ่งเกสรดอกบัวออกเป็นสี่ส่วน หนึ่งส่วนเป็นขององค์ศิวะเจ้าเอง หนึ่งส่วนขององค์พรหมา ส่วนหนึ่งเป็นของพระวิษณุ และส่วนที่สี่ให้แก่พระอัคนี เพื่อให้เทวะแต่ลงองค์ทรงบันดาลให้เกิดช้างสี่ตระกูล คือ อิศวรพงศ์, พรหมพงศ์, วิษณุพงศ์ และอัคนิพงศ์ แล้วจึงสร้างพระเวทสี่ประการ ไว้ให้สำหรับชนทั้งหลายจะได้ปราบช้างทั้งสี่ตระกูลในโลก

พระผู้ทรงจันทเศขร ทรงประสาทพรให้พระเพลิงกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง และท่ามกลางเปลวเพลิงทางด้านขวา บังเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นช้าง พระกรขวาทรงตรีศูล พระกรซ้ายทรงดอกบัว มีอุรเคนทร์ (พญานาค) เป็นสังวาล นั่งชาณุมณฑล อยู่เบื้องขวาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม ทรงพระนามว่า “ศิวบุตรพิฆเนศวร”

ส่วนเบื้องซ้ายบังเกิดเป็นเทวกุมาร มีพระพักตร์เป็นช้างสามเศียร มีหกพระกร ทรงพระนาม “โกญจนาเนศวร” ทรงบันดาลให้เกิดเป็นช้างเอราวัณ ช้างเผือกผู้มี 33 เศียร อีกพระกรหนึ่ง บังเกิดช้างคิรีเมขละไตรดายุค ช้างเผือกผู้สามเศียร

ช้างทั้งสองถือเป็น “เทพยานฤทธิ์” ซึ่งพระเป็นเจ้าทั้งสามประสาทพรไว้ให้เป็นเทพพาหนะขององค์อมรินทร์ พระกรอีกสองกรของพระโกญจนาเนศวร เกิดเป็นช้างเผือกซึ่งจะได้อุบัติในโลก สำหรับเป็นพาหนะของกษัตริย์อันมีอภินิหารอีกข้างละสามตระกูล คือ ช้างเผือกเอก โท ตรี และพระกรเบื้องขวาเป็นพลาย อีกสองพระกรบังเกิดเป็น “สังข์ทักษิณาวรรต” เบื้องขวา “สังข์อุตราวัฏ” เบื้องซ้าย ยืนอยู่เหนือกระพองศีรษะช้างเจ็ดเศียร

บรรดาหมอช้างทั้งหลายจึงไหว้บูชา พระศิวบุตรพิฆเนศวรและพระโกญจนาเนศวร ด้วยเหตุนี้พระศิวบุตรทั้งสองก็ประจำอยู่ในโลกจนสิ้นภัทรกัปหนึ่ง ช้างเผือกทั้งสามตระกูล และสังข์สองตระกูล จึงเป็นของมงคล เพราะเกิดจากกลางฝ่ามือของพระโกญจนาเนศวรศิวบุตรนั่นเอง

ความเชื่อดังกล่าวทำให้การขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญในทุกรัชกาล จะทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏเหนือศีรษะช้างสำคัญ อันเป็นพิธีใหญ่และสำคัญมาก เทียบเท่าพระเจ้าลูกยาเธอชั้นเจ้าฟ้าเชียวนะขอรับ

“พระพิฆเนศ” และ “พระโกญจนาเนศวร”

แหล่งที่มารูปภาพ
ภาพพระพิฆเนศ : https://www.silpa-mag.com/news/article_63047
ภาพพระโกญจนาเนศวร : http://ganeshmuseum.blogspot.com/2013/01/blog-post_725.html

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์