RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

หอยทากชราเล่าเรื่อง : เรื่องของสังข์ที่คนไม่รู้ ตอนที่ 2

คุณกำลังอ่าน
หอยทากชราเล่าเรื่อง : เรื่องของสังข์ที่คนไม่รู้ ตอนที่ 2

เผยแพร่ : 14/7/2565

จำนวนผู้เข้าชม : 567

สังข์กับพงศาวดารและผังเมือง

แม้แต่รูปปั้นของเทพเจ้าฮินดู ที่ทรงสังข์เป็นเทพศาสตราวุธ ในพระหัตถ์ก็จะทรงสังข์ทักษิณาวรรต หรือในมหากาพย์ต่าง ๆ เช่น มหาภารตยุทธ ก็ได้กล่าวถึงสังข์สำคัญมากมาย ซึ่งเหล่ากษัตริย์มีไว้ประจำองค์ และนำติดตัวไปเป็นเครื่องพิชัยสงคราม ยามที่ออกเล่นศึกชาญณรงค์สงคราม หลายท่านอาจจะสงสัยว่า สังข์  ใช้เป็นอาวุธได้อย่างไร จริง ๆ แล้วมิได้ใช้ ขว้าง ทิ่ม แทงใส่ศัตรูดอกขอรับ เพียงแต่ใช้เป่าเป็นอาณัติสัญญาณให้กับไพร่พล เวลาออกทำศึกในตอนเช้า และเลิกทัพในตอนเย็น รวมถึงตอนที่เข้าประจัญบาน เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม หรือเป็นการประกาศเดชานุภาพให้เหล่าทวยเทพและมหาชนได้รับรู้

แม้แต่ในพงศาวดารหลายเรื่อง ก็มีการกล่าวถึงหอยสังข์ เช่น การใช้เปลือกหอยสังข์มาทำเป็นผังเมืองสำหรับสร้างเมืองหริภุญไชย หรือที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในตอนสร้างกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ทรงเห็นว่าทำเลบริเวณหนองโสนอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม มีคูคลองล้อมรอบ จึงมีรับสั่งให้ชีพ่อพราหมณ์ตั้งพิธีกลบบาตสุมเพลิง จากนั้นจึงให้พนักงานขุดดินโดยรอบเพื่อเตรียมสร้างพระราชวัง และได้พบสังข์ทักษิณาวรรตสีขาวบริสุทธิ์ใต้ต้นหมันหนึ่งขอน อ้อ ลืมบอกไปขอรับ คำลักษณะนามที่ใช้เรียก “สังข์” นั้น เขาเรียกกันเป็น “ขอน” เดี๋ยวจะเข้าใจว่าเป็นขอนของต้นหมันไป  ทรงถือเป็นศุภนิมิตร ทรงโปรดให้ปราสาทขึ้นเพื่อประดิษฐานสังข์ทักขินาวัฎขอนดังกล่าว ในปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังคงรูปสังข์ทักษิณาวรรตประดิษฐานอยู่ในพานทองใต้ต้นหมันเป็นตราประจำจังหวัด นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ปรากฏว่ามีแขกคนหนึ่งชื่อนักกุดาสระวะสี ได้นำมหาสังข์ทักษิณาวรรตมาถวายเป็นคนแรก จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นขุนนางมียศเป็นหลวงสนิทภูบาล 

ผังเมืองรูปหอยสังข์ของเมืองหริภุญไชย

ตราประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แหล่งที่มารูปภาพ
ภาพผังเมืองรูปหอยสังข์ของเมืองหริภุญไชย : http://webinter.rd.go.th/lampang/36.0.html
ภาพตราประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Seal_Ayutthaya.png

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์