RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

เปิดโลก ‘คนเลี้ยงมด’ มิติใหม่ของสัตว์เลี้ยงที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

คุณกำลังอ่าน
เปิดโลก ‘คนเลี้ยงมด’ มิติใหม่ของสัตว์เลี้ยงที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

เผยแพร่ : 6/6/2565

จำนวนผู้เข้าชม : 566

เมื่อพูดถึง ‘สัตว์เลี้ยง’ หลายคนอาจนึกถึงภาพน้องหมาขนปุย หรือเจ้าเหมียวขี้อ้อน แต่ที่จริงแล้ว นอกเหนือจากสัตว์เลี้ยงยอดนิยมเหล่านั้น ยังมีสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่กำลังมาแรง แถมเลี้ยงง่ายอย่างสุด ๆ นั่นก็คือ “มด”

ใช่แล้ว ! อ่านไม่ผิด เพราะเราสามารถเลี้ยงมด ได้จริง ๆ แม้จะฟังดูแปลกไปสักหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้เฝ้าดูการเติบโตของรังมด และการทำงานอย่างขยันขันแข็งของมัน ก็บันเทิงใจดีไม่น้อย แถมไม่ต้องดูแลเอาใจใส่ หรือคอยหวีขนเช้าเย็นเหมือนหมาแมวที่คุ้นเคย

น่าสนใจใช่มั้ยล่ะ? ถ้าอยากรู้จักโลกของการเลี้ยงมดกันให้มากขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปเปิดมิติของ ‘การเลี้ยงมด’ ผ่านข้อควรรู้ที่เราคัดมาแบบสาระเน้น ๆ ให้แล้ว ถ้าพร้อมแล้ว ก็ตามไปอ่านกันเลย

เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกา ในปี 1950’s

การเลี้ยงมด ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้ แต่มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ย้อนกลับไปในปี 1950 ในสหรัฐอเมริกา โดยเกิดจากคุณ Milton Levine ได้สนใจพฤติกรรมของฝูงมดที่อยู่ริมสระว่ายน้ำ เลยคิดค้น Antarium หรือฟาร์มมดขึ้นมา จากนั้นก็ได้พัฒนาเป็นชุดเลี้ยงมดอย่าง Uncle Milton’s Ant Farm และเปิดขายให้แก่คนทั่วไป จนประสบความสำเร็จตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

รู้จักวรรณะของมด

ก่อนจะเริ่มต้นเลี้ยง เพื่อน ๆ ต้องรู้จักสังคมของมดก่อนว่า พวกมันอยู่ในลักษณะของระบบวรรณะ เนื่องจากเป็น Eusocial insect หรือแมลงสังคม โดยมักจะอยู่รวมกันเป็นอาณาจักร บางรังมีประชากรภายในเป็นล้านตัวเลย ! ซึ่งวรรณะมีการแบ่งคร่าว ๆ ดังนี้

  • Queen Ant มดราชินี หรือนางพญา

ตำแหน่งสูงสุดของรัง เป็นหัวใจของอาณาจักร 1 อาณาจักร มีแค่ 1 ตัวเท่านั้น มีหน้าที่สืบพันธุ์และวางไข่ โดยจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่ามดวรรณะอื่น ๆ

  • Male Ant มดเพศผู้

ตำแหน่งสำคัญรองลงมา เป็นมดที่ทำหน้าที่สืบพันธุ์เช่นเดียวกัน มีลักษณะเด่นคือมีปีก และมีรูปร่างคล้ายราชินีมด แต่ตัวเล็กกว่า โดยจะมีชีวิตอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ เพราะมันจะตายลงหลังผสมพันธุ์เสร็จ

  • Worker Ant  มดงาน

มดเพศเมียที่ไม่มีปีก เป็นวรรณะล่างสุด โดยแต่ละตัวจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะป้องกันศัตรู, หาอาหาร, ดูแลรัง ซึ่งนับว่าเป็นส่วนที่ทำให้อาณาจักรเติบโตได้นั่นเอง

เลี้ยงมด ต้องให้อาหารยังไง?

แม้จะเป็นมด แต่ขึ้นชื่อว่าสัตว์เลี้ยง เมื่อเราเอาเค้ามาเลี้ยง ก็ต้องดูแลให้อาหารอย่างดี โดยหลัก ๆ มดต้องการอาหารอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ดังนี้

โปรตีน >> ไม่ว่าจะเป็นหนอน ไส้เดือน แมลง หรือถ้าง่ายที่สุด ก็คือพวกเศษอาหารที่เรากินเหลือนี่แหละ

คาร์โบไฮเดรต >> สามารถให้เป็นผลไม้ หรือข้าวที่เหลือ แต่ที่แนะนำคือ น้ำแดง หรือน้ำที่ผสมน้ำแดง

น้ำสะอาด >> ถึงจะให้น้ำแดงแล้ว ก็ต้องมีน้ำสะอาดให้กิน


เป็นอย่างไรกันบ้างกับ โลกของคนเลี้ยงมด ? บอกเลยว่าน่าตื่นเต้นมาก ๆ ใครจะไปคิดว่ามดที่เดินผ่านไปมา จะสามารถนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงช่วยคลายเครียด แถมยังได้ศึกษาพฤติกรรมของพวกมันไปอีกด้วย !


Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์