RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

แมลงช่วยเพิ่มผลผลิตพืช ? สิ่งที่เกษตรกรอาจมองข้ามไป

คุณกำลังอ่าน
แมลงช่วยเพิ่มผลผลิตพืช ? สิ่งที่เกษตรกรอาจมองข้ามไป

เผยแพร่ : 20/2/2567

จำนวนผู้เข้าชม : 173

การเพิ่มผลผลิตของไม้ผล นอกจากการบำรุงด้วยปุ๋ยและน้ำแก่พืช สิ่งสำคัญที่เกษตรกรอาจมองข้ามไป คือแมลงที่เป็นพาหะถ่ายเรณู (pollinator) การอนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์เหล่านี้ไว้ในแปลงพืชเศรษฐกิจถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ผึ้งผสมเกสรชมพู่
ผึ้งผสมเกสรมะนาว

การลดลงของแมลงพาหะถ่ายเรณูส่งผลกระทบอย่างไร ?

การลดลงของแมลงพาหะถ่ายเรณูส่งผลกระทบต่อการสูญเสียความหลากหลายของพืชท้องถิ่น และพืชเศรษฐกิจ ทำให้สูญเสียความมั่นคงทางอาหาร และนิเวศบริการที่มนุษย์ควรได้รับจากแมลง มีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจจากแมลงที่มีส่วนช่วยในการผสมพันธุ์พืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่ามีมูลค่าถึง 11.6 ล้านปอนด์ต่อปี (Potts et al., 20101)

รายงานการศึกษาหลายฉบับชี้ให้เห็นความสำคัญของชันโรงและผึ้ง ที่มีต่อการปลูกไม้ผล ดังงานวิจัยของ Andrew and Brown (2006)2 พบว่าสวนแอปเปิ้ล (apple) ในประเทศอังกฤษ ที่ขาดแคลนผึ้งสำหรับเป็นแมลงพาหะถ่ายเรณู ส่งผลให้ปริมาณแอปเปิ้ลลดลง แอปเปิ้ลที่ได้มีขนาดเล็ก หรือรูปร่างผิดปกติ บางครั้งผลร่วงก่อนเจริญเต็มที่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากออวุล (ovule) ในดอกแอปเปิ้ลไม่ได้รับการผสม

ปัญหาที่ทำให้ชันโรงและผึ้ง ลดปริมาณ หรือหายไปจากสวนผลไม้ ?

ปัญหาที่ทำให้ชันโรงและผึ้ง ลดปริมาณ หรือหายไปจากสวนผลไม้ มีสาเหตุหลัก 2 ประการ 

  • ประการแรกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  • ประการสองสภาวะการขาดแคลนพืชอาหารของแมลงในช่วงที่ไม้ผลยังไม่ออกดอก หรือช่วงฤดูฝนที่พืชส่วนใหญ่เจริญเติบโตทางลำต้นทำให้ยังไม่ถึงระยะออกดอก ส่งผลให้แมลงมีอัตราการขยายตัวของประชากรต่ำ จนอาจทิ้งรังไปหาแหล่งอาหารที่อื่น (อัญชลี, 25563)

ซึ่งในทางกลับกันจากปัญหาประการที่สอง ช่วงฤดูกาลที่ดอกไม้ออกดอกจำนวนมาก จะทำให้แมลงมีอาหารเพียงพอต่อการขยายประชากรในรัง และส่งผลให้ชันโรงและผึ้งมีสุขภาพสมบูรณ์ มีความทนทานต่อโรคและศัตรู

ดังนั้นการจัดหาพืชที่เป็นอาหารของชันโรงและผึ้ง จึงมีความสำคัญต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตของไม้ผล ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการเลือกทั้งพืชที่ให้ดอกในฤดูฝน และพืชที่มีดอกตลอดทั้งปี เข้ามาปลูกเสริมในพื้นที่สวนเพื่อให้แมลงไม่ขาดแคลนอาหาร หรือในกรณีของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ก็ควรหลีกเลี่ยงการเก็บน้ำหวานจากรังผึ้งในช่วงที่ผึ้งขาดแคลนอาหาร วิธีนี่จะช่วยให้แมลงเหล่านี้ไม่ย้ายรังหรือทิ้งรังไปหาอาหารที่อื่น


จากข้อมูลดังกล่าว หากเกษตรกรใส่ใจอนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์เหล่านี้ไว้ในพื้นที่เกษตรกรรม ย่อมส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตของพืชสวน และยังเป็นการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกรูปแบบ


แหล่งที่มา
  1. Potts, S.G., J.C. Biesmeijer, C. Kremen, P. Neumann, O. Schweiger and W. E. Kunin.  2010. Global pollinator declines: trends, impacts and drivers.  Trends in Biology and Evolution, 25(6): 345-350. ↩︎
  2. Andrew, G.S. and M.A. Brown. 2006. Vital pollinators: honey bees in apple orchards. Biologist, 53(2): 79-81. ↩︎
  3. อัญชลี สวาสดิ์ธรรม. 2556. มหัศจรรย์ชันโรง. บริษัททริปเพิ้ลกรุ๊ป จำกัด, กรุงเทพฯ. ↩︎

Photographer

ทีมงาน RSPG