“ผลไม้น้ำเค็ม” อาหารพื้นบ้านจากป่าชายเลน
เผยแพร่ : 23/5/2565
จำนวนผู้เข้าชม : 1,117
อาหารพื้นบ้าน เป็นอาหารที่หาบริโภคได้ภายในชุมชนของแต่ละท้องถิ่น มักใช้สิ่งที่เก็บหรือหาได้ในแถบชุมชนนั้น นำมาปรุงเป็นอาหารพื้นบ้าน ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ด้านอาหารของแต่ละชุมชน ในบริเวณป่าชายเลน ก็มีวัตถุดิบชั้นเลิศสุดพิเศษอย่าง “ลำแพน” อยู่เช่นกัน
“ลำแพน” คืออะไร??
ลำแพน เป็นพืชป่าชายเลนสมาชิกในวงศ์ Lythraceae ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sonneratia ovata Backer
ลักษณะทั่วไปของลำแพน
ลำแพนเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง สูง 4-12 เมตร กิ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมเปราะ
ราก : มีรากหายใจรูปคล้ายหมุด ยาว 15-30 เซนติเมตร อยู่เหนือผิวดิน มักจะขึ้นในพื้นที่ที่ความเค็มไม่มากนัก และดินค่อนข้างเหนียว มีน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว
ใบ : แผ่นใบรูปไข่กว้างถึงรูปเกือบกลม มีปลายใบกลม
ดอก : ออกดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อกระจุก หลอดกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย กลีบเลี้ยงมักมี 6 กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ โคนกลีบเลี้ยงด้านในมีสีชมพูเรื่อ กลีบดอกไม่ปรากฏ เกสรเพศผู้จำนวนมากสีขาว
ผล : ผลกลมแป้น กลีบเลี้ยงงอหุ้มติดผล ผลมีเนื้อ เมล็ดจำนวนมาก
การแพร่กระจายของลำแพน
“ลำแพน” พบได้ในหมู่เกาะในทะเล Andaman Borneo, Cambodia, Hainan, Jawa, Malaya, Maluku, New Guinea, Solomon Is., Sulawesi, Thailand, Vietnam
ทำไมถึงใช้ “ลำแพน” ในการประกอบอาหาร??
ผลลำแพนที่แก่จัด (สังเกตจากกลีบเลี้ยงที่เปลี่ยนเป็นสีเขียวซีด) มีรสเปรี้ยว จึงถูกนำมารับประทาน ในเมนูต่าง ๆ ของแต่ละท้องถิ่นที่ต้นลำแพนขึ้น
“ลำแพน” ถูกนำไปทำอาหารพื้นบ้านอะไรบ้าง ??
ในจังหวัดสมุทรปราการ ลำแพนถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับตำน้ำพริก ให้ความเปรี้ยวแทนมะนาว ในขณะที่ภาคตะวันออก เช่น ระยองและจันทบุรี ตำเป็นน้ำพริกกะปิลำแพน หรือฝานบาง ๆ เป็นผักจิ้มน้ำพริก ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ลำแพนสามารถนำมาดัดแปลงเป็นสินค้าท้องถิ่นได้ โดยการนำไปกวนกับเกลือและน้ำตาลทรายเป็น ลำแพนหยี หรือลำแพน 3 รส
ในชุมชนบ้านทะเลน้อย อำเภอแกลง ระยอง ขนานนามลำแพนว่า “ผลไม้น้ำเค็ม” เนื่องจากออกผลได้ตลอดปี และรับประทานสดได้โดยไม่ต้องผ่านการปรุงใดใด ลำแพนจึงเป็นพืชป่าชายเลนที่อยู่ในวัฒนธรรมด้านอาหารพื้นถิ่น ที่ควรอนุรักษ์ไว้คู่ชุมชนในภาคตะวันออก
แหล่งที่มา 1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร. ชุมชนต้องเที่ยวบ้านทะเลน้อย จังหวัดระยอง (EP.1) เข้าถึงได้จาก youtube.com/watch?v=ZLNDOvoGhmc, 1 มีนาคม 2564. 2) ชัยสิทธิ์ ตระกูลศิริพาณิชย์, ทนุวงศ์ แสงเทียน, กิตติวัฒน์ เทียมเพ็ง, อานนท์ เชื้อไพบูลย์, ธวัต แทนไฮ, วาณิชยา นิลวิเชียร, ภักดี เชื่อมพิบูลย์ และ วาสนา แซ่ฉั่ว. (2552). พันธุ์ไม้ป่าชายเลนในประเทศไทย (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ: สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
Writer
Photographer
ปองพล สูตรอนันต์