RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

“ฟีโรโมน” สารสุดเย้ายวน เบื้องหลังการต่อแถว สุดเนี้ยบของมด

คุณกำลังอ่าน
“ฟีโรโมน” สารสุดเย้ายวน เบื้องหลังการต่อแถว สุดเนี้ยบของมด

เผยแพร่ : 13/9/2564

จำนวนผู้เข้าชม : 2,645

ตอนอนุบาล คุณครูมักจะสอนให้เราเดินจับไหล่คนข้างหน้าเพื่อต่อแถวระหว่างที่เดินไปดื่มนม จนกลายเป็นภาพที่หลายคนเห็นจนชินตา ไม่ใช่เรื่องยากอะไรในการสร้างแถวสุดเนี้ยบ ถ้าหากคุณมีมือที่ยาวพอจะเกาะคนด้านหน้าได้ 

แต่ถ้าคุณไม่มีมือล่ะ? คุณจะใช้อะไรสร้างขบวนแถวที่เป็นระเบียบขนาดนั้น 
คำตอบหาได้ง่าย ๆ เพียงแค่ลองมองที่มุมผนัง ใต้โต๊ะกินข้าว หรือข้างถังขยะ คุณก็จะเห็นการเดินแถวของ “มด” ที่เป็นระเบียบ เว้นช่องไฟอย่างพอดี และที่สำคัญไม่ได้ใช้อวัยวะใดเกาะเพื่อนข้างหน้าเลย 
อะไรคือความลับของแถวสุดเนี้ยบพวกนั้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปไขคำตอบกันเลย!

วิธีสื่อสารอัจฉริยะของมด

ถ้าพูดว่ามดเป็นสัตว์สังคม ก็คงจะไม่ผิดนัก พวกมันใช้ชีวิตอยู่ในรังที่มีประชากรรวมกันกว่า 22 ล้านตัว แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เป็นระเบียบ และไม่มีการขัดแย้งใด ๆ พวกมันใช้วิธีไหนในการสื่อสาร? เสียง โทรจิต หรือใช้การมองตาก็รู้ใจ?

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พวกมันสื่อสารโดยการใช้หนวดสัมผัสกันและกัน บางชนิดใช้เสียงในการสื่อสาร แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นหัวใจสำคัญเบื้องหลังการต่อแถว ก็คือ “สารเคมี” ที่ปล่อยออกมานั่นเอง

เมื่อเราทำอาหารหล่นพื้น มดที่รับหน้าที่ในการหาอาหารจะทำการปล่อย “ฟีโรโมน” ออกมาจากต่อมภายนอก (Exocrince gland) ที่เรียกว่า “ต่อมดูเฟอร์” เพื่อสร้างกลิ่นระหว่างทางที่เดินไปยังแหล่งอาหาร จากนั้นมดที่เหลือก็จะเดินตามรอยกลิ่นฟีโรโมนที่มดตัวแรกทิ้งไว้ เกิดเป็นขบวนสุดเนี้ยบที่หลายคนคุ้นตา 

แต่! ถ้าเจอแหล่งอาหารใหม่ล่ะ? สารฟีโรโมนที่ปล่อยจะทับไลน์กันหรือไม่ 
คำตอบคือ ไม่แน่นอน! เพราะฟีโรโมนที่มดปล่อยออกมานั้นจะค่อย ๆ จางหายไปภายใน 100 วินาที ซึ่งช่วยให้มดไม่สับสนขณะเดินไปยังแหล่งอาหารใหม่ นอกจากนั้น ความเจ๋งอีกอย่างคือ มดยังมีความสามารถในการแยกแยะความเข้มข้นของกลิ่นฟีโรโมนได้ โดยพวกมันจะเลือกเดินตามเฉพาะทางที่มีฟีโรโมนที่กลิ่นแรงกว่าเท่านั้น 

สุดยอดนักล่าวัตถุดิบ เลือกเส้นทางใกล้ได้ไม่ง้อ Google Map

นอกจากจะเดินแถวได้อย่างเป็นระเบียบแล้ว เจ้ามดพวกนั้นยังใช้ประโยชน์จากฟีโรโมนในการหาเส้นทางที่ใกล้แหล่งอาหารมากที่สุด โดยเราได้ข้อเท็จจริงนี้มาจากการทดลองของ Beckers, Deneuberg และคณะ ที่ใช้การทดสอบดังนี้

1.วางอาหารไว้ใกล้กับรังมด จากนั้นรอให้มดเดินเป็นขบวนนำอาหารกลับรัง แล้วจึงหาสิ่งกีดขวางมาวางคั่นทางเดินของมด ดังภาพ

2. พวกเขาสันนิษฐานว่า เมื่อเจอกับสิ่งกีดขวาง พวกมันจะทำการเดินอ้อมไปทางซ้าย และทางขวาอย่างละครึ่ง ก่อนจะมาเดินตามรอยฟีโรโมนเหมือนเดิม ดังภาพ

3.แต่ผลปรากฎว่ามดพวกนั้นกลับเดินอ้อมไปทางซ้าย ซึ่งมีระยะทางที่สั้นกว่า ก่อนจะกลับมาเดินตามรอยฟีโรโมนตามเส้นทางเดิม ดังภาพ 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า มดมีความสามารถในการตัดสินใจเดินตามทางที่มีกลิ่นฟีโรโมนแรงกว่า ซึ่งในทางซ้ายเป็นทางที่ใกล้กว่า ทำให้ได้กลิ่นฟีโรโมนจากเส้นทางเดิมชัดเจนกว่าอีกทางนั่นเอง

บอกเลยว่าความสามารถในการเสาะหาอาหารของมดพวกนี้นั้น ไม่จำเป็นต้องพึ่ง Google Map ให้เสียเวลาเลยด้วยซ้ำ แค่เดินตามรอยที่ตัวข้างหน้าทิ้งไว้ รับรองว่าไปถึงแหล่งอาหารโดยสวัสดิภาพแน่นอน!

ผศ.ดร. สาลินี ขจรพิสิฐศักดิ์

ผู้ตรวจสอบข้อมูล

Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์