“พืชพิษ” อันตรายในป่าชายเลนที่ควรระวัง !!!
เผยแพร่ : 16/5/2565
จำนวนผู้เข้าชม : 1,954
ขึ้นชื่อว่า “ป่า” นอกจากจะอุดมไปด้วยธรรมชาติและระบบนิเวศที่เป็นแหล่งทรัพยากรอันสมบูรณ์แล้ว ย่อมต้องมีอันตรายซ่อนอยู่ ทั้งสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่า หรือพืชที่เจริญเติบโตและพบได้ทั่วไปในป่า มีทั้งแบบที่มีพิษเล็กน้อยไปจนถึงขั้นร้ายแรงแตกต่างกันไป วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับพืชพิษที่แอบซ่อนอยู่ในป่าชายเลนกันเถอะ
“ตาตุ่มทะเล” คืออะไร??
“ตาตุ่มทะเล” เป็นพืชป่าชายเลนสมาชิกในวงศ์ Euphorbiaceae ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Excoecaria agallocha L.
ลักษณะทั่วไปของตาตุ่มทะเล
“ตาตุ่มทะเล” เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็กถึงกลาง สูงประมาณ 3-15 เมตร มีน้ำยางสีขาว
เปลือก : แตกเป็นร่องสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเทา ซึ่งเปลือกและกิ่งจะมีช่องอากาศขนาดเล็ก (lenticel) เด่นชัด
ใบ : เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่แกมรี ปลายใบกลมถึงเว้าตื้นๆ หรือเรียวมน ฐานใบมน ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวเป็นมัน และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐเมื่อใบใกล้ร่วง
ดอก : ดอกช่อเชิงลด ออกตามง่ามใบ ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กมาก ช่อดอกเพศผู้มีสีเหลืองแกมเขียว ยาว 5-10 ซม. ช่อดอกเพศเมียสั้น 2-3 ซม.
ผล : ผลแห้งแตก มี 3 พู
การแพร่กระจายของตาตุ่มทะเล
“ตาตุ่มทะเล” พบได้ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย แปซิฟิก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
“ยางขาว” พิษร้ายของตาตุ่มทะเล
ความเป็นพิษของตาตุ่มทะเล รายงานโดย Chan et.al. (2018) พบว่าน้ำยางสีขาวที่พบในต้นตาตุ่มทะเลมีพิษต่อมนุษย์โดยทำให้เกิดอาการตาบอดชั่วคราว และผิวหนังพุพอง ทั้งนี้มีกรณีศึกษาจากเด็กชายชาวศรีลังกาที่ไปตัดกิ่งของตาตุ่มทะเล แล้วน้ำยางกระเด็นสัมผัสใบหน้า และดวงตา มีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง และดวงตาข้างที่สัมผัสน้ำยางมองไม่เห็น จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังจากผ่านไป 1 เดือน ดวงตากลับมามองเห็นเป็นปกติ แต่ใบหน้ายังคงมีรอยแผลเป็นจาง ๆ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังหากต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีต้นตาตุ่มทะเล
ตาตุ่มทะเลกับพิษทางอ้อม !!
ชาวประมงจะให้ความระมัดระวังในการบริโภคสัตว์น้ำที่อาศัยในบริเวณป่าชายเลนที่มีตาตุ่มทะเลขึ้นอยู่ เนื่องด้วยสัตว์น้ำเหล่านั้นอาจได้รับพิษจากการกินผลหรือใบของตาตุ่มทะเล และเมื่อเรานำสัตว์น้ำเหล่านั้นมาเป็นอาหารอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรง เพราะเหตุนี้การให้ความรู้แก่เยาวชนที่เข้าไปศึกษาสังคมพืชป่าชายเลนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
จะเห็นว่าธรรมชาตินั้นมีมุมที่สวยงาม แต่ก็มีมุมที่อันตรายอยู่ด้วย ยิ่งเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่อย่าง “ป่า” ก็ยิ่งมีอันตรายแฝงอยู่รอบด้าน เราจึงควรหมั่นสังเกตและระมัดระวังตัวเสมอเมื่ออยู่ในป่า
แหล่งที่มา 1) ชัยสิทธิ์ ตระกูลศิริพาณิชย์, ทนุวงศ์ แสงเทียน, กิตติวัฒน์ เทียมเพ็ง, อานนท์ เชื้อไพบูลย์, ธวัต แทนไฮ, วาณิชยา นิลวิเชียร, ภักดี เชื่อมพิบูลย์ และ วาสนา แซ่ฉั่ว. (2552). พันธุ์ไม้ป่าชายเลนในประเทศไทย (ฉบับปรับปรุงใหม่). กรุงเทพฯ: สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2) Chan, E.W.C., N. Oshiro, M. Kezuka, N. Kimura, K. Baba & H. T. Chan. (2018). Pharmacological potentials and toxicity effects of Excoecaria agallocha. Journal of Applied Pharmaceutical Science, 8(5): 166-173.
Writer
Photographer
ปองพล สูตรอนันต์